บทที่ 24
เราเป็นทุกข์เสียใจ เพราะได้ทำผิดต่อบัญญัติความรัก
จุดมุ่งหมาย เพื่อให้นักเรียนรู้จักเป็นทุกข์เสียใจเมื่อทำผิด
เพราะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่พระเป็นเจ้าจะทรงอภัยให้
ขั้นที่ 1 กิจกรรม
ครูยกตัวอย่างบางอย่างให้นักเรียนตัดสินว่า ดี หรือ ไม่ดี
1. เด็กชายมานพ แม่ใช้ให้ดูน้อง กลับปล่อยน้องไว้แล้วไปวิ่งเล่นกับเพื่อน ๆ น้องหกล้มร้องไห้ จึงดุเอา แต่เด็กชายมานพกลับหัวเราะวิ่งหนีไป
2. เด็กหญิงสุรีย์ เล่นกับพี่ ๆ น้อง ๆ ในบ้าน เผอิญวิ่งไปชนตู้กระจกแตก เมื่อแม่กลับมาเด็กหญิงสุรีย์ จึงเข้าไปหาแม่แล้วพูดว่า “คุณแม่คะ หนูวิ่งชนตู้กระจกแตก หนูเสียใจและขอโทษคุณแม่”
3. เด็กชายประโยชน์ รักแกน้องโดยแย่งของเล่นน้องไป พ่อสั่งให้เอาไปคืนน้อง เด็กชายประโยชน์จำใจคืนให้ แล้วบอกกับน้องว่า “ทีหลังเอ็งไม่ต้องมาเล่นกับข้า”
4. เด็กหญิงชาดา ยืมปากกาของเด็กหญิงเพ็ญศรีไป แล้วทำหล่นหัก เด็กหญิงชาดาจึงไปหาเด็กหญิงเพ็ญศรีพูดว่า “ฉันทำปากกาของเธอหักเสียแล้ว ฉันเสียใจ ฉันจะซื้ออันใหม่มาให้”
ครูเล่าประวัติคนสำคัญบางคนที่เมื่อทำผิดแล้วรู้จักเสียใจขอโทษ เช่น
นักบุญดอมินิก ซาวีโอ เมื่อเล็ก ๆ ทำขวดน้ำมันแตก จึงเตรียมไม้เรียวไว้ พอแม่กลับมาก็เข้าไปหากล่าวว่า “คุณแม่ครับ ผมทำขวดน้ำมันแตก ผมเสียใจจริง ๆ ผมขอโทษ ขอคุณแม่ลงโทษผมเถอะครับ” ว่าแล้วก็ยื่นไม่เรียวให้แม่ตี แต่แม่สงสารก็ยกโทษให้
ยอร์จ วิซิงตัน ประธานาธิปดีคนแรกของสหรัฐอเมริกาเมื่อยังเล็กอยู่ พ่อซื้อขวานเล่มเล็ก ๆ ให้เป็นของขวัญ ยอร์จ วอชิงตัน ชอบใจมาก เที่ยวเอาขวานฟันไปทั่ว ที่สุดก็ฟันเอาต้นไม้ที่พ่อรักและหวงมากต้นหนึ่งขาด ยอร์จ วอชิงตัน รู้ตัวจึงวิ่งไปหาพ่อกล่าวว่า “คุณพ่อครับ ผมเอาขวานฟันต้นไม้ที่พ่อรักขาดไปแล้ว ผมเสียใจ ขอคุณพ่อลงโทษผมเถอะ” พ่อเอามือลูบศีรษะลูกแล้วกล่าวว่า “เอาเถอะ ลูกผิดไปแล้วก็รู้จักเสียใจมาขอโทษ การทำเช่นนี้ค่ายิ่งกว่าต้นไม้ต้นนั้นหลายเท่า พ่อไม่ลงโทษลูกหรอก”
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
ครูถามนักเรียนว่า
สมมติว่านักเรียนเป็นพ่อแม่ นักเรียนจะทำอย่างไรต่อการกระทำของเด็ก ๆ ตามตัวอย่างข้างบน? ทำไม?
รู้สึกอย่างไรต่อเรื่องราวของนักบุญดอมินิก ซาวีโอ และยอร์จ วิชิงตัน
สรุป คนเราย่อมผิดผลาดได้ แต่เมื่อผิดผลาดแล้วรู้จักเสียใจขอโทษ ก็จะได้รับการอภัย หรือทำให้โทษนั้นลดน้อยลง
ขั้นที่ 3 คำสอน
1. วันหนึ่ง พระเยซูคริสต์เสด็จไปที่บ้านหลังหนึ่ง มีหญิงคนหนึ่งชื่อ มารี มัดาเลนา มาเฝ้าพระองค์ นางเป็นคนบาปหนา มีปีศาจถึง 7 ตนสิงอยู่ นางเข้ามากราบแทบพระบาทพระเยซูคริสต์ร้องไห้น้ำตาไหลรดพระบาทของพระองค์ นางเอาผมเช็ดแล้วเอาน้ำมันหอมชโลมพระบาท ผู้คนเห็นก็พารังเกียจคิดในใจว่า ทำไมพระเยซูคริสต์จึงปล่อยให้คนบาปมาทำเช่นนี้ พระองค์จึงตรัสแก่คนเหล่านั้นว่า “ความผิดของนางซึ่งมีมาได้รับอภัยแล้วเพราะนางรักมาก ผู้ที่ได้รับอภัยน้อยก็เพราะผู้นั้นรักน้อย” แล้วพระองค์ก็ตรัสกับมารี มักดาเลนาว่า “บาปของเจ้าได้รับอภัยแล้ว” (เทียบ ลก.7,36-48) เหตุที่มารี มักดาเลนาได้รับอภัยก็เพราะนางเป็นทุกข์เสียใจและแสดงออกด้วยการร้องไห้ เอาน้ำตาล้างพระบาท ชโลมน้ำมันหอมที่พระบาท จากคนบาปหน้าในอดีต นางจึงกลายเป็นนักบุญใหญ่ คือ นักบุญมารี มักดาเลนา
2. เมื่อเราทำบาปผิดต่อพระเป็นเจ้า วิธีเดียวที่จะทำให้พระเป็นเจ้าอภัยเราได้ก็คือ เป็นทุกข์เสียใจและขอโทษพระองค์ พระเป็นเจ้าตรัสว่า “ถึงบาปของเจ้าจะมีสีแดงเข้ม ก็จะขาวราวหิมะ ถึงมันจะแดงอย่างผ้าแดง ก็จะเป็นเหมือนขนแกะ” (อสย.1,18)
3. ความทุกข์ถึงบาปคือการสำนึกว่าเราได้ทำผิดต่อพระเป็นเจ้าผู้ทรงรักเราและมีพระคุณต่อเราอย่างเหลือล้น พระองค์ทรงเป็นบิดาของเรา ทรงดีต่อเราทุกประการ การทำบาปจึงเป็นการเนรคุณอย่างน่าละอายที่สุด นอกจากนั้นบาปยังมีความร้ายกาจในตัวมันเอง คือ ทำให้เราสูญเสียพระหรรษทาน เสียความเป็นบุตรของพระเป็นเจ้า เสียมรดกในสวรรค์ด้วย และถ้าเราตายในบาปเราก็จะต้องรับโทษในนรกตลอดนิรันดร การคิดได้เช่นนี้ ทำให้เราเกลียดกลัวบาปและเกิดความเป็นทุกข์ได้เหมือนกัน
4. พระศาสนจักรสอนว่า คนบาป ถ้าสำนึกตน เป็นทุกข์เสียใจ แม้ตายไปโดยไม่มีโอกาสรับศีลแก้บาป ก็ได้รับการอภัยและสามารถเอาตัวรอดได้ ฉะนั้น เราจึงควรเป็นทุกข์เสียใจเพราะบาปของเราบ่อย ๆ หรือทุกครั้งที่เราพิจารณามโนธรรมหรือพิจารณาบาปแล้ว
ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
ก. จดเนื้อหาลงในสมุด
1. ความทุกข์ถึงบาปคืออะไร?
ตอบ ความทุกข์ถึงบาปคือเสียใจที่ได้ทำผิดต่อพระเป็นเจ้าซึ่งรักและดีต่อเรายิ่งนัก
2. เราควรเป็นทุกข์ถึงบาปเมื่อไร?
ตอบ เราควรเป็นทุกข์ถึงบาปทุกครั้งที่เราทำบาป หรือ หลังจากได้พิจารณามโนธรรมหรือพิจารณาบาปแล้ว
ข. กิจกรรม
ให้นักเรียนสวดบท “ข้าพเจ้าสารภาพบาป” และ “บทแสดงความทุกข์” อย่างตั้งใจ ครูอธิบายความหมายของคำภาวนาทั้งสองบทนี้ให้นักเรียนเข้าใจ