บทที่ 23
การพิจารณามโนธรรม

จุดมุ่งหมาย เพื่อให้นักเรียนรู้จักพิจารณาตัวเองทุกวัน เป็นต้น เวลาจะไปรับศีลแก้บาป

ขั้นที่ 1 กิจกรรม

 ครูให้นักเรียนอยู่ในความสงบสักครู่ (1-2 นาที)
 บอกให้นักเรียนพิจารณาดูว่า
   - ตั้งแต่เช้าจนถึงขณะนี้ได้ทำอะไรดีบ้าง?
   - เสร็จแล้วให้นักเรียนตอบทีละคน
   - ตั้งแต่เช้าจนถึงขณะนี้ได้ทำอะไรผิดบ้าง?
  เสร็จแล้วให้นักเรียนตอบทีละคน

 ครูเล่านิทานให้นักเรียนฟังดังต่อไปนี้
            เด็กคนหนึ่งริอ่านขโมยตั้งแต่เล็ก ๆ เริ่มตั้งแต่ขโมยของเล็ก ๆ น้อย ๆ ก่อน พ่อแม่ก็ไม่ว่าอะไร ตัวเองก็คิดว่าไม่เป็นไร กลับเห็นเป็นเรื่องสนุกเสียอีก ต่อมาก็ขโมยของใหญ่ ๆ ขี้น พ่อแม่ก็ยังไม่ว่าอะไรอีก เพราะเห็นว่ายังเป็นเด็กอยู่ ตัวเองก็ถือว่าเป็นเรื่องผจญภัยสนุกดี เมื่อเติบโตเป็นหนุ่มก็ขโมยเครื่องเพชรและฆ่าเจ้าทรัพย์ตาย เขาถูกจับและถูกตัดสินประหารชีวิต พ่อแม่ร้องไห้สงสารลูก หนุ่มคนนี้ก็พูดว่า “สายไปเสียแล้วครับ คุณพ่อคุณแม่ แต่ก่อนผมยังเล็ก ๆ อยู่ พ่อแม่ไม่เคยว่ากล่าวห้ามปราม ผมไม่คิดว่าได้ทำอะไรผิด ผมจึงทำมาเรื่อย ๆ จนติดเป็นนิสัย บัดนี้แก้ไม่ไหวเสียแล้ว” แล้วก็ถูกนำไปประหาร

ขั้นที่ 2 วิเคราะห์

 ครูถามนักเรียนว่า
  - รู้สึกอย่างไรต่อชะตาชีวิตของหนุ่มคนนี้?
  - ทำไมเขาจึงกลายเป็นฆาตกรและจบชีวิตอย่างนี้?
  - อะไรเป็นสาเหตุ?
  - เราอาจจะเป็นเช่นนั้นได้หรือไม่?
สรุป ถ้าเราเป็นคนดีและหลุดพ้นจากความผิด เราต้องหมั่นตริตรองคิดถึงสิ่งที่เราทำบ่อย ๆ ถ้าสิ่งใดดีก็ทำต่อไป ถ้าสิ่งใดผิดก็จงรีบแก้ไขเสียก่อนที่มันจะสายเกินไป การกระทำเช่นนี้เราเรียกว่า “การพิจารณามโนธรรม”

ขั้นที่ 3 คำสอน

           1. เราควรหัดเป็นนิสัยให้รู้จักพิจารณามโนธรรมทุกวัน เป็นต้น ก่อนนอน โดยสวดภาวนาและสงบจิตใจสักครู่เพื่อคิดดูว่า วันนี้เราได้ทำอะไรบ้าง มีอะไรดีที่ควรทำต่อไป มีอะไรผิดที่ควรละเว้น มีอะไรที่เราต้องทำแล้วไม่ได้ทำ เสร็จแล้วให้เราขอบคุณ พระเป็นเจ้าถ้าหากว่าเราได้ทำอะไรดี ขอโทษพระเป็นเจ้าถ้าเราได้ทำอะไรผิด หรือไม่ได้ทำหน้าที่ของเรา

           2. เราควรพิจารณามโนธรรมเป็นพิเศษเมื่อจะไปรับศีลแก้บาป การพิจารณามโนธรรมแบบนี้เรียกว่า “พิจารณาบาป” เพราะเราเจาะจงคิดถึงบาปความผิดที่ได้กระทำ เพื่อจะได้รู้และไปสารภาพแก่พระสงฆ์ได้

           3. เราพิจารณาบาปตามบัญญัติความรัก คือ
 ก. ความรักต่อพระเป็นเจ้า เช่น
ขาดความเคารพต่อพระเป็นเจ้า ไม่สำรวมตัวเมื่ออยู่ในวัดหรือเมื่อเดินเข้าออกวัด พูดคุยเล่นกันในวัด วอกแวกเมื่อสวดภาวนา นอนหลับในวัด ฯลฯ ขาดทำหน้าที่ต่อพระเป็นเจ้า ไม่สวดภาวนา ไม่ไปวัด ไม่รับศีลศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น ศีลแก้บาปและศีลมหาสนิท หนีเรียนคำสอน ฯลฯ
 ข. ความรักต่อเพื่อนมนุษย์ เช่น
ต่อผู้ใหญ่ ดื้อ ไม่นบนอบเชื่อฟัง ไม่เคารพ หน้าไหว้หลังหลอก โกหก ฯลฯ ต่อพี่น้องและเพื่อน ทะเลาะวิวาท ทำร้ายกัน รังแกกัน แย่งชิงของคนอื่น ขโมย อิจฉา ใส่ความ นินทา ด่าว่าร้ายต่อกัน โมโหโทโส ฯลฯ ต่อตัวเอง ไม่ซื่อสัตย์ในหน้าที่ ไม่ตั้งใจเรียน ไม่ทำการบ้าน หนีเรียน เกียจคร้าน โลภอาหาร ตระหนี่ถี่เหนียว ฯลฯ

          4. การพิจารณามโนธรรมทำให้เรารู้จักตัวเองดีขึ้น และการพิจารณาบาปก็ทำให้เรารู้จักจุดบกพร่องของเราดีขึ้น เราจะได้รีบแก้ไขเสียตั้งแต่แรก ๆ การแก้ไขแต่แรกย่อมง่ายกว่าปลอดไว้จนกลายเป็นสันดาน แก้ไขยาก

ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ

ก. จดเนื้อหาลงในสมุด
1.พิจารณามโนธรรมคืออะไร?
ตอบ  พิจารณามโนธรรม คือ การคิดดูว่าเราได้ทำอะไรไปบ้าง อะไรดี อะไรผิด เพื่อจะได้หาทางปรับปรุงแก้ไขตนเองต่อไป
2.เราควรพิจารณามโนธรรมเมื่อไร?
 ตอบ  เราควรพิจารณามโนธรรมทุกวัน เป็นต้น ก่อนนอน
3.พิจารณาบาปคืออะไร?
ตอบ  พิจารณาบาปคือคิดดูว่า เราได้ผิดต่อบัญญัติความรักในข้อใดบ้าง เพื่อจะได้ขอโทษพระเป็นเจ้า และไปสารภาพแก่พระสงฆ์ในศีลแก้บาปต่อไป
ข. กิจกรรม
         แจกกระดาษให้นักเรียนคนละแผ่น ให้ฝึกพิจารณาบาปตามบัญญัติความรักที่ให้ตัวอย่างไว้ข้างต้นเขียนความผิดลงในกระดาษ เสร็จแล้วทำพิธีขอสมาโทษต่อพระเป็นเจ้า แล้วเผากระดาษที่เขียนความผิดนั้น