บทที่ 18
ชีวิตใหม่
จุดมุ่งหมาย เพื่อให้นักเรียนเห็นคุณค่าของชีวิตใหม่ที่เกิดจากศีลล้างบาป
และพยายามรักษาไว้สุดความสามารถ
ขั้นที่ 1 กิจกรรม
ครูเล่าเรื่อง “ลูกล้างผลาญ” จากพระวรสาร ลก.15,11-32 ให้นักเรียนฟังพร้อมภาพประกอบหรือให้นักเรียนแสดงประกอบก็ได้
ตัวละครมี
- พ่อ
- พี่ชาย
- น้องชาย
- เพื่อน 2-3 คน
- นายจ้าง
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
ครูถามนักเรียนว่า
-รู้สึกอย่างไรต่อบิดาที่ยกโทษให้ลูก?
-รู้สึกอย่างไรต่อพี่ชายที่ไม่ยอมยกโทษให้น้อง?
-รู้สึกอย่างไรต่อน้องชายที่กลับใจมารขอโทษบิดา?
สรุป คำพูดของบิดาที่กล่าวว่า “น้องชายของเจ้าเหมือนตายแล้วเกิดใหม่ หายสาบสูญไปแล้วกลับมาพับกันอีก” (ลก.15,32) การทิ้งบ้านทิ้งบิดาไปตกระกำลำบากก็เหมือนตาย การกลับบ้านกลับมาหาบิดาก็เหมือนเกิดใหม่
ขั้นที่ 3 คำสอน
1. ลูกคนเล็กเมื่อหลงผิดไปแล้วก็กลับคิดได้ว่าตนควรจะทิ้งชีวิตแบบนี้แล้วกลับบ้าน กลับไปหาบิดาแล้วเริ่มต้นชีวิตใหม่ เขาคงได้ลิ้มรสความทุกข์ทรมานซึ่งเป็นผลของการปล่อยตัวตามใจชอบและคงจะเข็ดหลาบไม่ประพฤติอย่างเก่าอีก
2. เมื่อรับศีลล้างบาปก็เท่ากับเราได้ทิ้งชีวิตเก่า คือบาปความผิดต่าง ๆ ซึ่งดูภายนอกก็เย้ายวนใจให้ความสุขสมปรารถนา แต่ภายในนั้นแฝงไว้ด้วยความทุกข์ทรมาน เพราะคนบาปย่อมมีเสียตำหนิติเตียนในใจทำให้เกิดความเศร้าซึมอมทุกข์ หรือที่เราเรียกว่ามโนธรรมติเตียน
3. บิดาต้อนรับลูกคนเล็กกลับบ้านเหมือนวีรบุรุษ นอกจากยกโทษให้แล้วยังสั่งให้จัดงานรับขวัญอย่างใหญ่โตมโหฬาร ท่านสั่งคนใช้ว่า “จงรีบไปเอาเสื้ออย่างดีที่สุดมาสวมให้ลูกของเรา เอาแหวนมาสวมนิ้วมือ และเอารองเท้ามาสวมให้ จงเอาลูกวัวตัวอ้วน ๆ มาฆ่าเลี้ยงฉลองกันให้รื่นเริงบันเทิงใจ เพราะลูกของเราคนนี้ตายแล้วกลับเป็นขึ้นมาอีก หายไปแล้วแต่ได้พบกันอีก” (ลก.15,22-24) นี่คือชีวิตใหม่ที่ลูกล้างผลาญได้รับจากบิดาผู้เมตตา เป็นรูปแบบของชีวิตใหม่ที่เราได้รับในศีลล้างบาป เสื้ออย่างดีที่สุด แหวน รองเท้า ได้แก่เกียติและศักดิ์ศรีของการเป็นคริสตชน หรือการเป็นลูกของพระเป็นเจ้า ซึ่งได้สูญเสียไปเพราะบาป บัดนี้พระองค์ก็ทรงคืนให้กับเราเหมือนเดิม หรือยิ่งกว่าเดิมอีก การจักงานกินเลี้ยงฉลองรับขวัญก็ได้แก่การกินเลี้ยงในศีลมหาสนิท ซึ่งเปิดกว้างสำหรับทุกคนที่กลับมาบ้านของพระเป็นเจ้า คือ วัด เพื่อรื้อฟื้นสัมพันธ์ไมตรีกับพระเป็นเจ้าและกับเพื่อนมนุษย์ให้สนิทแนบแน่นเหมือนเดิม หรือยิ่งกว่าเดิมอีก
4. คุณค่าของชีวิตใหม่อยู่ตรงนี้คือ พระทัยเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้า ลูกคนเล็กทำผิด กลับบ้านคิดว่าบิดาคงดุด่าว่าลงโทษแต่เปล่าทั้งสิ้น บิดากลับวิ่งไปสวมกอด ยอโทษให้และจัดงานฉลองต้อนรับ ซึ่งแม้กระทั้งพี่ชายคนโตก็ยังงงและอิจฉา พระเป็นเจ้าก็ทรงทำเช่นเดียวกัน พระองค์ทรงสวมกอดเรา ยกโทษให้เราและเลี้ยงฉลองต้อนรับเรากลับมาเป็นลูกของพระองค์อีก พระทัยเมตตากรุณาของพระเป็นเจ้านี้น่าจะทำให้เรารู้สึกซาบซึ้งและไม่อยากกลับไปทำบาปอีก นักบุญเปาโลกล่าวว่า “ความรักและเมตตาของพระเป็นเจ้านำความชอบธรรมและความดีมาให้ ทั้งพระเยซูคริสต์ก็ได้นำชีวิตนิรันดรมาให้เราด้วย บัดนี้เราจะว่าอย่างไร? จะยังคงทำบาปต่อไปหรือ? คงไม่แน่ ๆ ท่านก็ทราบดีว่าเมื่อเรารับศีลล้างบาป เราก็มีส่วนในความตายของพระเยซูคริสต์ เพื่อว่าพระเป็นเจ้าได้ทรงโปรดให้พระเยซูคริสต์กลับคืนพระชนม์ฉันใด พระองค์ก็จะโปรดให้เรามีชีวิตใหม่ฉันนั้น” (รม.5,21 และ 6.1-4)
5. เรากำลังเตรียมตัวรับศีลล้างบาป หรือบางคนได้รับศีลล้างบาปแล้ว แต่เราก็ยังไม่ได้เปลี่ยนชีวิต ยังคงดำเนินชีวิตเก่าซึ่งนำไปสู่ความตาย เช่น ยังคงทะเลาะเบาะแว้งกัน โมโหฉุนเฉียว อิจฉาเห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบเพื่อน ดื้อกระด้าง เกียจคร้านไม่ทำหน้าที่ ฯลฯ เราจงเริ่มต้นชีวิตใหม่เสียวันนี้ ทิ้งชีวิตเก่า ๆ นั้นเสีย แล้วเราจะพบความสงบสุขในวิญญาณ
ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
ก. จดเนื้อหาลงในสมุด
1.ชีวิตเก่าคืออะไร?
ตอบ ชีวิตเก่าคือการละทิ้งพระเป็นเจ้าไปทำตามความพอใจของตัวเอง แสวงหาความสุขโดยไม่คำนึงถึงผิดชอบชั่วดีใด ๆ ทั้งสิ้น
2.ชีวิตใหม่คืออะไร?
ตอบ ชีวิตใหม่คือการเป็นอิสระหลุดพ้นจากบาป กลับมาเป็นลูกของพระเป็นเจ้า และเป็นพี่เป็นน้องกับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน
ข. กิจกรรม
เล่นเกม “ตอบทันควัน”
ครูชี้ที่นักเรียนคนใดคนหนึ่งแล้วบอกการกระทำอย่างหนึ่งออกมา
ให้นักเรียนที่ถูกชี้ตอบทันควันว่า “ชีวิตใหม่” หรือ “ชีวิตเก่า” เช่น
ไปวัด
เลี้ยงน้อง
แย่งขนมน้องกิน
หนีเรียน
ฯลฯ
ใครตอบผิดถือว่าแพ้
ร้องเพลง “ชีวิตใหม่” (ปรารถนา หน้า 200 เอ)
ชีวิตใหม่
1. เรามาเริ่มสร้างชีวิตใหม่ ให้สุกใสฤทัยรื่นรมย์
ชีวิตใหม่ไสวใคร่ชม ชื่นชื่นสุขสมภิรมย์ชมกัน
2. เรามาเริ่มด้วยรักพระองค์ ปักใจคงยืดองค์ทรงธรรม์
ทางอบายมั่นหมายไกลพลัน ตัวเรานั้นคืนวันมั่นคง
3. แสงธรรมส่องนำหนทาง เราจะวางไว้ในพระองค์
ทางความดีเรานี้ซื่อตรง จะดำรงคงมั่นสัญญา
4. ชีวิตเก่าเราไซร้ไม่แล มั่นคงแท้พระคริสต์ราชา
ชีวิตใหม่ดั่งให้วาจา ใครค้นหาย่อมพาสุขใจ