บทที่ 14
เราเองก็ทำผิดต่อพระเป็นเจ้า
จุดมุ่งหมาย เพื่อให้นักเรียนสำนึกถึงความผิดที่ตนเองได้กระทำรู้สึกเสียใจและหาวิธีแก้ไข
ขั้นที่ 1 กิจกรรม
ครูยกตัวอย่างการกระทำบางอย่าง ให้นักเรียนตัดสินว่าถูกหรือผิด
เช่น
- เด็กชายแก้วไม่เข้าแถวซื้อของ ชอบแซงเด็กเล็ก ๆ
- เด็กหญิงดวงตาชอบเก็บความผิดของคนอื่นมาเล่าให้เพื่อนฟัง
- เด็กชายธนูชอบใช้เวลาว่างจากการเรียนหนังสือ ช่วยพ่อแม่ทำงาน
- เด็กหญิงพรศรีอดกินขนม เพราะเอาไปให้เด็กที่อด ไม่มีอะไรกิน
- เด็กชายชำนาญออกจากบ้านวันอาทิตย์ บอกกับพ่อแม่ว่าจะให้ไปวัด แต่เถลไถลไปเที่ยว
- เด็กหญิงพลอยด่าเพื่อน เพราะชอบมาล้อชื่อพ่อแม่ ฯลฯ
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
ให้นักเรียนสำรวจดูตัวเองว่า ได้กระทำอะไรทำนองนี้ ทั้งถูกทั้งผิด หรือไม่
หาอาสาสมัครมาเล่าให้เพื่อนฟังหน้าชั้น
ครูถามนักเรียนถึงผลดีผลเสียของการทำถูกทำผิด
สรุป เราทุกคนเคยทำอะไรมามากแล้ว ทั้งถูกทั้งผิด ที่ถูกก็ควรทำต่อไป ที่ผิดก็ควรแก้ไขละเว้นเสีย
ขั้นที่ 3 คำสอน
1. ความผิดที่เราทำนั้นย่อมขัดคำสั่งของพระเป็นเจ้าทั้งนั้น เช่น การแซงแถวซื้อของเป็นการเอาเปรียบเพื่อน ผิดต่อความรัก การเอาความผิดของคนหนึ่งไปเล่าให้อีกคนหนึ่งฟังเป็นการนินทา การบอกพ่อแม่ว่าไปวัดแล้วไปเที่ยวเถลไถลเป็นการโกหก การด่าเพื่อนเป็นการโมโห
2. ความผิดที่เราทำกันนี้เราเรียกว่า “บาปที่เราทำเอง” ซึ่งต่างจาก “บาปกำเนิด” เพราะบาปกำเนิดนั้นตกทอดมาถึงเราเพียงผลของมันเท่านั้น แต่ “บาปที่เราทำเอง” นี้ตกถึงเราทั้งบาป ทั้งโทษทั้งผลของมัน หมายความว่า เราจะต้องรับผิดชอบทุกอย่างด้วยตัวของเราเอง ซึ่งคิดดูแล้วมันหนักหนาสาหัสกว่า “บาปกำเนิด”มากนัก
3. ความผิดที่เราทำต่อพระเป็นเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ซึ่งเราเรียกว่าบาปนี้เป็นสิ่งเลวร้ายที่สุด เพราะเป็นความอกตัญญูอย่างสุด ๆ ของเราต่อพระเป็นเจ้าที่ดีแสนดีต่อเรา เราได้เรียนรู้มาในตอนแรก ๆ แล้วว่าพระเป็นเจ้าทรงดีต่อเราอย่างไร นับตั้งแต่สร้างเรามา ประทานชีวิตให้เรา ประทานทุกสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตให้เรา รับเราเป็นลูกของพระองค์ ประทานพระเยซูคริสต์ให้เป็นพี่ชาย ประทานพระหรรษทานให้เป็นของขวัญ แล้วเราก็อกตัญญูต่อพระองค์โดยฝ่าฝืนคำสั่งของพระองค์ ใช้สิ่งที่พระเป็นเจ้าประทานให้มาย่ำยีพระองค์เป็นการตอบแทน
4. พระวรสารกล่าวถึงหลายคนที่เคยทำบาปผิดต่อพระเป็นเจ้า แต่ก็สำนึกผิด กลับตัวกลับใจ แก้ไขตนเองจนกลายเป็นคนศักดิ์สิทธิ์ได้ เช่น มารี ชาวมักดาลา ที่พระเยซูคริสต์ทรงขับปีศาลเจ็ดตนออกจากนอง ศักเคียส คนเก็บภาษีซึ่งประกาศเลิกทำบาป และชดเชยคนที่เขาเคยทำให้เสียหาย “ข้าพเจ้ายอมยกทรัพย์สมบัติกึ่งหนึ่งให้คนอนาถา และถ้าข้าพเจ้าได้ฉ้อโกงใครก็จะชดใช้ให้สี่เท่า” (ลก.19,8) เราก็จงทำเช่นเดียวกันโดยสำนึกตัวว่า ได้ทำบาปผิดต่อ พระเป็นเจ้าและต่อเพื่อนมนุษย์ เสียใจขอโทษพระองค์ และตั้งใจจะชดเชยด้วยการทำดีประพฤติดีต่อไป
ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
ก. จดเนื้อหาลงในสมุด
1.บาปเป็นสิ่งเลวร้ายอย่างไร?
ตอบ บาปเป็นสิ่งเลวร้ายเพราะเป็นการแสดงความอกตัญญูต่อพระเป็นเจ้าผู้ทรงเปี่ยมด้วยพระคุณต่อเราอย่างเหลือล้น
2.เมื่อเราทำบาปแล้ว เราควรทำอย่างไร?
ตอบ เมื่อเราทำบาปแล้ว เราก็ควรสำนึกผิด กลับตัวกลับใจ และแก้ไขตนเองเสียใหม่
ข. กิจกรรม
ร้องเพลง “บาป”
บาป บาป บาป เราเกรงกลัวต่อบาป
ความชั่วทุกสิ่งเป็นบาป ถ้าทำผิดกฎบัญญัติอย่างเจตนา
กลัว กลัว กลัว กลัวความชั่วกันเถิดหนา
คนดีย่อมเกรงกลัวว่า จะนำความเดือดร้อนมาให้แก่ผู้อื่น