ความหมายของคำว่า “คำสอน”
 

ตอนที่ 8
ความหมายของ “การสอนคำสอน”สังคายนาวาติกันครั้งที่ 2
 

ในเอกสารต่างๆ ของพระศาสนจักร มีการอ้างอิงเกี่ยวกับงานคำสอนอยู่มากมาย
ส่วนใหญ่แล้ว เมื่อพูดถึง “คำสอน” มักหมายถึงการให้ข้อแนะนำหรือข้อคำสอนของคริสตชน
แก่บุคคลที่ล้างบาปแล้ว โดยมีจุดประสงค์เพื่อที่จะบำรุงพัฒนาความเชื่อที่มีอยู่

ให้เข้มแข็งขึ้นดังที่พระสมณกฤษฎีกาแห่งสภาสังคายนาว่าด้วยหน้าที่ของพระสังฆราช
ในการอภิบาลสัตบุรุษในพระศาสนจักร ข้อ 14 บอกไว้ว่า
 

การสอนคำสอนมีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ความเชื่อในตัวมนุษย์เข้มแข็งและมั่นคง อาศัยความสว่างแห่งคำสอน พระสังฆราชต้องสอดส่อง จัดการให้เด้กและวัยรุ่น ผู้ใหญ่อายุน้อยและอายุมากได้รับการสอนคำสอนแบบนี้ด้วยความเอาใจใส่อย่างกวดขันด้วย
ในการสอนคำสอนให้ใช้ลำดับและตำราที่มิใช่เหมาะแก่เรื่องที่สอนเท่านั้น แต่ให้เหมาะแก่อุปนิสัย ความสามารถ อายุและสภาพชีวิตของผู้ฟังด้วย การสอนที่กล่าวนี้จะต้องถือพระคัมภีร์ ธรรมประเพณี พิธีกรรม คำสอนทางการและชีวิตของพระศาสนจักรเป็นหลัก”
เราจะเห็นได้ว่า ความหมายการสอนคำสอนของสังคายนาวาติกันที่สองนี้มุ่งเน้นให้เห็นว่า
งานนี้เป็นหน้าที่ที่สำคัญประการหนึ่งในงานอภิบาลของพระสังฆราช
การสอนคำสอนจึงเป็นงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง การสอนคำสอน
กับการสอนศาสนาจึงไม่เหมือนกัน พระสมณกฤษฎีกานี้ ได้กล่าวถึงคำสอนกับการสอนศาสนา
จึงไม่เหมือนกัน พระสมณกฤษฎีกานี้ ได้กล่าวถึงหน้าที่ของการสอนคำสอนก็เพื่อพัฒนา
การดำเนินชีวิต พัฒนาความเชื่อให้เข้มข้น ชัดเจน โดยอาศัยคำสั่งสอนของพระคริสต์
 

ในเอกสารของพระศาสนจักรนี้ เมื่ออ้างถึงข้อคำสอนของคริสตชน
จะรวมถึงคำสั่งสอนของพระเยซูคริสต์ หรือความจริงที่พระเยซูคริสต์ทรงเปิดเผย
และได้รับการรับรองโดยพระศาสนจักร
พระสมณกฤษฎีกาฉบับเดียวกันนี้ในข้อที่ 13 ได้แนะไว้ว่า
 

“พระสังฆราชต้องสอนพระคริสตธรรมโดยวิธีเหมาะแก่ความต้องการของยุค คือให้ตรงกับความยุ่งยากและปัญหาที่บีบคั้นและทำให้มนุษย์กระวนกระวายใจมากที่สุด”
 

จากข้อความนี้ ทำให้เราเห็นความจริง 2 มิติของงานคำสอน กล่าวคือ
 

หนึ่ง พระสังฆราชต้องสอนข้อคำสอนของพระเยซูคริสต์
และสอง พวกท่านต้องสอนคำสอนของพระคริสต์ด้วยความรับผิดชอบต่อมวลมนุษย์
โดยช่วยพวกเขาให้เผชิญหน้ากับปัญหาต่างๆ ในชีวิตด้วยความเชื่อ ศรัทธา 2 มิตินี้
หรือที่เรียกว่า ความสัตย์ซื่อต่อพระเยซูคริสต์และการรับผิดชอบต่อมวลมนุษย์
จะต้องมีอยู่ในใจของผู้สอนคำสอนทุกคนเสมอ
 

(สารคำสอนฉบับที่ 42 เดือนกรกฎาคม 1997)