ความหมายของคำว่า “คำสอน”
ตอนที่ 2
คำสอนในความหมายตามที่ปรากฏในพระคัมภีร์
คำว่า “คำสอน” ไม่พบว่ามีใช้ในพระธรรมเก่า
แม้แต่พระคัมภีร์ฉบับเจ็ดสิบ (Septuagint)
เราพบว่า มีการใช้คำว่า “คำสอน” อยู่บ้างในพระธรรมใหม่
แต่ใช้ในความหมายที่เฉพาะกรณี
ในพระวรสารทั้งสี่พบเพียงครั้งเดียว ในลูกา 1:4
ตอนที่นักบุญลูกาพูดกับเทโอฟีลัส
“ที่ข้าพเจ้าเขียนไว้นี้ก็เพื่อจะให้ท่านมั่นใจ
ถึงเรื่องที่เขาสอนท่าน”
ในที่นี้เป็นการอ้างอิงถึงการสอนของบรรดาอัครสาวก
ที่เกี่ยวกับความเชื่อของคริสตชน
ไม่ได้อ้างถึงการสอนของพระเยซูโดยตรง
ส่วนข้ออ้างอิงอื่นๆ มาจากกิจการของอัครสาวก 18:25
และ 21:21 ในกิจการ 18:25
“อปอลโลผู้นี้เรียนรู้เรื่องพระเจ้า เขามีความร้อนรน
กล่าวสอนเรื่องพระเยซูอย่างถูกต้อง
ทั้งๆ ที่เขารู้แต่เพียงเรื่องพิธีใช้น้ำของยอห์นเท่านั้น”
ในที่นี้ “คำสอน” หมายถึง การสอนคนใดคนหนึ่งในเรื่องของพระเจ้า
แต่ในกิจการ 21:21 ใช้เพื่อหมายถึง การแจ้งข่าวให้คนบางคนรู้เรื่องบางเรื่องดังที่เขียนไว้ว่า
“ได้ยินข่าวว่าพี่สอนให้ชาวยิวในต่างแดนเลิกปฏิบัติตามคำสอนของโมเสส
บอกให้เราเลิกถือพิธีสุหนัต เลิกทำตามขนบธรรมเนียมยิวเสีย”
ความหมายที่ได้รับการยอมรับและนำมาใช้ในสมัยต่อๆ มาเป็นความหมายแรก
ที่หมายถึงการแนะนำหรือการสอนคนในเรื่องของพระเจ้า
ดังนั้น เราสามารถกล่าวได้ว่าในพระธรรมใหม่นั้น คำว่า “คำสอน”
เป็นการอ้างอิงถึงกระบวนการสอน หรือให้คำแนะนำบุคคลให้รู้เรื่องของพรเจ้า
หรือสอนคนเกี่ยวกับคำสอนของพระเจ้า
คำที่พระคัมภีร์มักจะใช้เพื่ออ้างอิงถึงการสอนของพระเยซูก็คือ Didackein หรือ Didache
ซึ่งหมายถึงการอสน คำๆ นี้มักใช้กับการสอนของบรรดานักปรัชญา หรือบรรดาประกาศก
ผู้ซึ่งได้รับการไขแสดงหรือแรงดลใจเป็นพิเศษ ดังนั้นจึงเป็นการสอนที่มีอำนาจ
และสอนอย่างเป็นต้นตำรับ
ในขณะที่คำว่า คำสอน หรือ Catechesis นี้เป็นการสอนประเภทหนึ่งที่ให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง
โดยผู้สอนนั้นสอนเกี่ยวกับคำสอนของผู้มีอำนาจนั้น (ไม่ใช่สอนคำสอนของตนเอง)
ดังนั้น ในความหมายของเรา การสอนคำสอนจึงเป็นการสอนบุคคลให้รู้เรื่องที่เกี่ยวกับ
คำสอนของพระเยซูคริสต์
ในภาษากรีกนั้น เรียกครูว่า Didaskalos ซึ่งชาวยิวใช้คำว่า รับบี (Rabbi)
(Rabbi ก็คือ Didaskalos) เมื่อทราบความหมายตามศัพท์นี้แล้ว เราสามารถพูดได้ว่า
พระเยซูมิใช่เป็นครูคำสอน (Catechist) หรือผู้แนะนำ แต่เป็นครู (Didaskalos)
ส่วนคำที่ใช้เพื่ออ้างอิงถึงกิจการสอนของพระเยซูเรียกว่า Didakein
ในพระวรสารของนักบุญยอห์น คำว่า Dodakein นี้ ใช้ในความหมายที่เฉพาะเจาะจง
กล่าวคือ เพื่ออ้างอิงถึงคำสอนที่เกิดจากการไขแสดงหรือแรงดลใจพิเศษ (ยน 8:28, 14:26, 1ยน 2:27)
ดังนั้น เพื่อที่จะแยกแยะให้ชัดเจนระหว่างการสอนของพระเยซูและการสอนของบรรดาอัครสาวก
นักบุญเปาโลใช้คำว่า Katekein เพื่อบ่งบอกถึงการสอนคำสั่งสอนของพระเยซูคริสต์
ที่บรรดาอัครสาวกได้ให้แก่ประชาชน
(สารคำสอนฉบับที่ 35 เดือนพฤศจิกายน 2539)