บทเรียนจากจดหมายนักบุญเปาโลถึงชาวโรม
การต่อสู้ดิ้นรนของมนุษย์
1. ชีวิตที่หลอกลวง

พระคัมภีร์ : โรม บทที่ 2:1-24
จุดประสงค์ : เพื่อให้ผู้ศึกษาได้สำรวจตรวจตราถึงพฤติกรรมประการหนึ่งของมนุษย์คือการหลอกลวง การตีสองหน้า การไม่จริงใจ แสดงออกโดยการวาดภาพมนุษย์สองหน้า


ดำเนินการ
1) ให้ผู้นำแสดงบทบาทเป็นผู้ที่หลอกลวงไม่จริงใจ โดยออกกฎให้ทุกคนปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใด เสร็จแล้วให้ผู้นำนั้นแหกกฎนั้นเสียเองอย่างหน้าตาเฉย แล้วสังเกตดูปฏิกิริยาของผู้เรียน ถ้าพวกเขาพากันขัดค้าน ให้แกล้งทำเป็นว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่แปลกอะไรที่ท่านจะทำเช่นนี้ แล้วพยายามตั้งคำถามให้ผู้เรียนได้เข้าใจความหมายของคำว่าหลอกลวง ตีสองหน้าจากการแสดงบทบาทสมมุตินี้ ถามผู้เรียนว่ารู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นคนที่ทำเช่นนี้

2) เชิญผู้เรียนอ่าน โรม 2:1-24 ดังๆ ในขณะฟังให้ผู้เรียนจดจำถ้อยคำที่ประทับใจหรือให้ข้อคิดที่ดี ซึ่งควรให้ผู้เรียนมีพระคัมภีร์ประจำตัวเพื่อจะได้ติดตามได้ใกล้ชิดและสามารถขีดเขียนการดลใจลงในพระคัมภีร์ได้ และเมื่ออ่านจบแล้วให้ผู้เรียนได้บอกถึงข้อความที่ประทับใจหรือให้บทสอน จากนั้นผู้นำอาจจะช่วยผู้เรียนให้เข้าใจถึงหัวข้อต่างๆที่เราจะอภิปรายกันในวันนี้ โดยให้ข้อสังเกตว่านักบุญเปาโลกำลังขอร้องให้ประชาชนปฏิบัติตามเรื่องที่ท่านได้เทศน์สอน เช่น

• การพิพากษาผู้อื่นหรือตัดสินคนอื่นแล้วตนเองก็ทำผิดเสียเอง : ว่าแต่เขาอีเหนาเป็นเอง(เทียบ 2:1)
• การทำผิดซ้ำๆซากๆโดยไม่ยอมกลับใจ สักวันหนึ่งจะต้องโดนลงโทษอย่างแน่นอน(เทียบ 2:5)
• ทำอะไรย่อมได้อย่างนั้น(เทียบ 2:6)
• ทำดีย่อมได้ดี(เทียบ 2:7)
• ความทุกข์โศกจะมาถึงมนุษย์ทุกคนที่กระทำชั่ว(2:9)
• ความรุ่งโรจน์ เกียรติยศและสันติ จะมาถึงทุกคนที่กระทำความดี(2:10)
• พระเจ้าจะบันดาลความชอบธรรมให้แก่ผู้ที่ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติ(เทียบ 2:13)
• พระเจ้าทรงรู้ถึงความคิดที่เร้นลับของทุกคน –อย่าตีสองหน้าหรือหลอกลวงพระเจ้า(2:16)
• เมื่อท่านสอนผู้อื่นก็เท่ากับสอนตนเอง(เทียบ 2:21)
• ขณะที่ท่านภูมิใจที่รู้ธรรมบัญญัติ แต่ไม่ปฏิบัติตามท่านก็ดูหมิ่นพระเจ้า(2:23)

3. ให้ผู้เรียนแต่ละคนได้วาดหน้าคนหลอกลวงโดยใช้สีต่างๆ โดยแสดงให้เห็นว่าคนที่หลอกลวง ไม่จริงใจ ไม่ซื่อตรงนั้น เป็นคนที่มีสองบุคลิกภาพ หรือมีสองหน้า หรือเป็นคนหน้าไหว้หลังหลอก ปากอย่างหนึ่งใจอย่างหนึ่ง โดยให้ผู้เรียนได้ใช้จินตนาการตามถนัด และให้ผู้เรียนได้เขียนคำสอนของเปาโลตอนใดตอนหนึ่งลงในภาพนี้

4. ใช้ภาพหน้าคนหลอกลวงที่ผู้เรียนทำเสร็จแล้วเพื่ออภิปรายกันถึงลักษณะนิสัยที่ไม่ดีนี้ โดยเปิดประเด็นว่าเราทุกคนต่างก็มีความผิดความบกพร่องหรือเป็นคนหลอกลวงบ้างในบางครั้ง เน้นว่าเมื่อเราหลอกลวง หรือตีสองหน้า เราก็ได้ทรยศต่อผู้อื่นที่เขาไว้วางใจเรา