ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

สรุปคำสอนจากบทจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ 1 และ 2สรุปคำสอนจากบทจดหมายของนักบุญเปาโลถึงชาวโครินธ์ 1 และ 2
ภูมิหลัง
         จุดมุ่งหมายของเปาโลในการเขียนจดหมายคือการเสริมสร้างความเชื่อให้กับบรรดาคริสตชนที่อาศัยอยู่ตามศูนย์กลางที่มีประชากรหนาแน่น และที่เมืองโครินธ์นี้เป็นเมืองท่าใหญ่และมีพลเมืองมากมีโอกาสที่จะเผยแผ่ความเชื่อออกไปได้กว้างขวาง กลุ่มคริสตชนที่เปาโลก่อตั้งนั้นขยายตัวออกไปเป็นกลุ่มใหญ่ขึ้น ส่วนใหญ่เป็นคนยากจน(1คร 1:26-28) เมืองโครินธ์เป็นทั้งศูนย์กลางใหญ่ของวัฒนธรรมกรีกที่ดึงดูดปรัชญาและศาสนาทุกประเภทมารวมกันและเป็นเมืองที่มีความเสื่อมทางศีลธรรม ดังนั้นสภาพแวดล้อมเช่นนี้ย่อมมีผลต่อการดำเนินชีวิตของคริสตชนชาวโครินธ์ ดังนั้นเปาโลจึงได้เขียนจดหมายถึงเพื่อแก้ปัญหาต่างๆเหล่านี้

 

I  การแตกแยกและการเป็นตัวอย่างไม่ดี

1. เรื่องแบ่งแยก (1:10-4:21)
สภาพการณ์ : เปาโลรู้จากคนในครอบครัวของคะโลเอว่ามีการทะเลาะวิวาทกัน(1:11) แบ่งแยกกันเป็นก๊กเป็นเหล่า เช่น พวกของเปาโล พวกของอปอลโล พวกของเคฟาส

คำสอนของเปาโล
1) ให้ยึดพระเยซูตริสตเจ้าเป็นหลักแต่เพียงผู้เดียว เพราะพระองค์เท่านั้นที่ทรงถูกตรึงกางเขนเพื่อไถ่บาปเรา บรรดาสาวกล้วนแต่เป็นผู้รับใช้-ผู้ดูแล ธรรมล้ำลึกของพระเจ้า(4:1) เป็นเพียงผู้ประกาศผู้มีหน้าที่ประกาศข่าวดีเรื่องพระเยซูคริสตเจ้าเท่านั้น(1:17) และเราทุกคนต่างก็เป็นเพียงมนุษย์เท่านั้น(เทียบ 1:4)

2) อย่ายึดติดผู้ประกาศฯเพราะเห็นว่าคนนั้นฉลาดหรือพูดเก่ง เพราะการประกาศข่าวดีของพระเจ้าจะบังเกิดผลมิใช่เพราะจากสำนวนโวหารหรือด้วยความฉลาด แต่เพราะ “ถ้อยคำของพระเจ้ามีอานุภาพ” (2:4) และ ด้วย “การทำงานของพระจิต” (เทียบ 2:131) ที่เป็นเช่นนี้เพื่อจะได้มิให้ใครโอ้อวดในผลงาน “ผู้ใดจะโอ้อวด ก็ให้ผู้นั้นโอ้อวดในองค์พระผู้เป็นเจ้าเถิด”1:31)

3) ส่วนบทบาทของผู้เทศน์นั้น เปาโลสอนว่าทุกคนเป็นเพียงผู้รับใช้ที่นำความเชื่อมาให้ประชาชน เปรียบเสมือนเป็นเพียงผู้ปลูกและผู้รดน้ำต้นไม้แห่งความเชื่อ แต่พระเจ้าทรงบันดาลให้เติบโต(3:5-8) ท่านยังเปรียบชีวิตของเราเหมือนการสร้างตึกที่ต้องยึดพระเยซูเจ้าเป็นฐาน(3:10-11) และบรรดาผู้เทศน์สอนยังเปรียบเหมือนพระวิหารของพระเจ้าที่พระจิตเจ้าประทับอยู่ คือเป็นบุคคลศักดิ์สิทธิ์ที่พระเจ้าทรงคุ้มครอง(3:16)

4) ดังนั้นผู้เทศน์จึงต้องอย่าคิดหรืออวดว่าตนเองฉลาดปราดเปรื่อง “จงยอมโง่จึงจะเป็นคนฉลาดที่แท้จริง...เพราะความฉลาดของมนุษย์ในโลกนี้เป็นความโง่เขลาเฉพาะพระพักตร์ของพระเจ้า”(3:18-19) และพวกเราทุกคนต่างเป็นของพระคริสต์และพระคริสต์เป็นของพระเจ้า(3:23)

5) ผู้เทศน์เป็นเพียงผู้รับใช้ ผู้จัดการธรรมล้ำลึกของพระเจ้า ดังนั้น จึงต้องเป็นผู้ที่ไว้วางใจได้(4:2) ไม่หยิ่งผยอง ไม่เข้าข้างคนหนึ่งและต่อว่าอีกคนหนึ่ง – ไม่โอ้อวด(4:6) และคิดอยู่เสมอว่า “เราเป็นเสมือนขยะมูลฝอยของโลก เป็นสิ่งปฏิกูลของทุกคน(4:13)

6) ทุกสิ่งที่ท่านสอนท่านได้เอาตัวเองเป็นประกัน โดยบอกว่า “ข้าพเจ้ายกเรื่องเหล่านี้เกี่ยวกับตนเองและอปอลโลเป็นตัวอย่างเพื่อประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย ให้ท่านเรียนรู้จากเรา”(4:6)

ข้อคิด :
1) หมู่คณะของเรามีความแตกแยกกันบ้างหรือไม่ สาเหตุของการแตกแยกคืออะไร ท่านมีคำแนะนำอะไรเพื่อให้เกิดความปรองดองกันบ้าง
2) ท่านรู้สึกอย่างไร ถ้าเห็นใครชอบโอ้อวด หรือหยิ่งผยอง และตัวท่านเองเป็นคนเช่นนี้บ้างหรือเปล่า
3) ท่านทำงานโดยยึดอะไรเป็นหลักในชีวิต ความสำเร็จ หรือคำชมเชย หรือค่าตอบแทน หรืออะไรอื่นๆ
4) ท่านจะทำงานอย่างไรให้มีความสุข

2. ความผิดเรื่องทางเพศ :
        การมีเพศสัมพันธ์ในระหว่างญาติใกล้ชิด(5:1-13) - การล่วงประเวณี(6:12-20)
สภาพการณ์ : มีข่าวร่ำลือกันมากว่ามีการผิดประเวณีเกิดขึ้นในหมู่ท่าน ชนิดที่ไม่เคยพบเคยเห็นในหมู่คนต่างศาสนา คือ มีคนหนึ่งได้แม่เลี้ยงของตนมาเป็นภรรยา และการประพฤติผิดอื่นๆอีกมากมาย

คำเตือนของเปาโล :
(1) ให้ยึดพระเยซูเจ้าองค์ปัสกาที่ถูกฆ่าบูชาชำระบาปเราแล้วไว้(5:7) ชำระตนให้บริสุทธิ์ จงเป็นดังแป้งไร้เชื้อคือความจริงใจและสัจจะ อย่ายึดแป้งเก่าคือความชั่วร้ายเลวทราม(เทียบ 5:6-8)

(2) เปาโลตัดสินว่าการได้แม่เลี้ยงมาเป็นภรรยาเป็นความผิดที่รุนแรงมาก ท่านแนะนำว่า “จงมอบคนประเภทนี้ให้กับซาตาน ให้เขามีชีวิตที่ต้องทนทุกข์ทรมานเพื่อจิตของเขาจะรอดพ้นในวันขององค์พระผู้เป็นเจ้า(5:5)

(3) และท่านยังได้แนะนำให้วางตัวกับบุคคลเหล่านี้รวมถึงคนที่ประพฤติผิดอื่นๆอีกว่า....อย่าคบหาสมาคมกับบุคคลที่ได้ชื่อว่าเป็นพี่น้อง แต่ผิดประเวณี โลภเอาแต่ได้ กราบไหว้รูปเคารพ นินทาว่าร้ายผู้อื่น ดื่มสุราเมามายหรือชอบลักขโมย อย่ากินอาหารร่วมโต๊ะกับคนประเภทนี้...จงขจัดคนชั่วร้ายออกไปจากหมู่คณะของท่าน”(5:11,13)

(4) เรื่องการร่วมประเวณี ท่านสอนให้เคารพร่างกายของกันและกัน เป็นต้นศักดิ์ศรีอันสูงส่งของร่างกายของเราแต่ละคน “ร่างกายมิได้มีไว้สำหรับการล่วงประเวณี แต่มีไว้สำหรับองค์พระผู้เป็นเจ้า”(6:13) “ร่างกายเป็นส่วนประกอบของพระวรกายของพระคริสตเจ้า แล้วจะเอาส่วนประกอบนี้ไปร่วมกับร่างกายของหญิงโสเภณีหรือ”(6:15) “ร่างกายของท่านเป็นพระวิหารของพระจิต...พระเจ้าทรงซื้อท่านไว้ด้วยราคาแพง ดังนั้นจงใช้ร่างกายของท่านถวายพระเกียรติแด่พระเจ้าเถิด”(6:19-20)

ข้อคิด
1) ท่านคิดว่าพฤติกรรมเรื่องเพศในสังคมปัจจุบันของเราเป็นอย่างไรบ้าง
2) เราจะสอนเด็กๆและเยาวชนของเราให้รู้จักเคารพศักดิ์ศรีและร่างกายของตนเองได้อย่างไรบ้าง

3. การชำระข้อพิพาทในศาลของคนต่างศาสนา(6:1-11)
สภาพการณ์ : เมื่อมีข้อพิพาทหรือขัดแย้งกันบรรดาคริสตชนไม่สามารถตกลงกันเองได้ แต่กลับไปพึ่งคนต่างศาสนา
คำแนะนำของเปาโล
1) เป็นเรื่องที่น่าละอายใจ ที่พี่น้องต้องเป็นความกัน รังแกและฉ้อโกงกันต่อหน้าผู้ที่ไม่มีความเชื่อ
2) ให้ผู้มีอำนาจในพระศาสนจักรเป็นผู้ตัดสิน ไม่ใช่ให้คนอื่นมาตัดสิน
3) คนที่ทำผิดย่อมไม่ได้รับพระอาณาจักรของพระเจ้า เราทุกคนได้รับการชำระล้างบาปและได้รับความศักดิ์สิทธิ์อันเนื่องมาจากความตายของพระเยซูคริสตเจ้าแล้ว ดังนั้นจงอย่ากระทำผิดต่อกันและกันหรือกับผู้ใดเลย
ข้อคิด
1) ความสัมพันธ์ของท่านกับครอบครัวและพี่ๆน้องๆเป้นอย่างไรบ้าง
2) ความสัมพันธ์ของท่านกับเพื่อนร่วมงานเป็นอย่างไรบ้าง
3) เมื่อมีข้อขัดแย้งกันท่านมีวิธีปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อแก้ไขความขัดแย้งนั้น

II  คำตอบปัญหาต่างๆ

4. การสมรสกับการถือพรหมจรรย์(7:1-39)
คำถาม : คริสตชนควรแต่งงานหรือไม่
เปาโล : การที่คนหนึ่งไม่แต่งงานนั้นเป็นการดี ถึงกระนั้นเพื่อป้องกันมิให้ผิดประเวณีก็ควรแต่งงาน(7:1-4)..และอย่าปฏิเสธที่จะมีเพศสัมพันธ์แก่กันและกัน เว้นแต่จะได้ตกลงกันงดเพศสัมพันธ์ระยะหนึ่งเพื่ออุทิศตนอธิษฐานภาวนา(7:5) ส่วนผู้ที่ไม่แต่งงานและหญิงม่าย การอยู่เป็นโสดเป็นการดี แต่ถ้าบังคับตนเองไม่ได้ ก็จงแต่งงาน เพราะการแต่งงานดีกว่าถูกไฟราคะเผาผลาญ

ถาม : คนที่แต่งงานแล้วควรปฏิบัติตนอย่างไร
เปาโล : ภรรยาอย่าแยกจากสามี แต่ถ้าแยกกันแล้วก็อย่าแต่งงานอีก หรือมิฉะนั้นก็จงคืนดีกับสามี ส่วนสามีก้อย่าขับไล่ภรรยาของตน

ถาม : แต่งงานกับคนต่างความเชื่อได้หรือไม่
เปาโล : ถ้าพี่น้องคนหนึ่งมีภรรยาที่ไม่มีความเชื่อและนางเต็มใจอยู่กินกับเขา เขาไม่ต้องหย่าขาดจากนาง ถ้าหญิงมีสามีที่ไม่มีความเชื่อและเขาเต็มใจอยู่กับนางก็ไม่ต้องหย่าขาดเช่นเดียวกัน เพราะสามีที่ไม่มีความเชื่อได้รับความศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้าโดยทางภรรยา และภรรยาที่ไม่มีความเชื่อก็ได้รับความศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้าโดยทางสามีที่มีความเชื่อ มิฉะนั้นบุตรของท่านก็จะมีมลทิน แต่ในความเป็นจริงบุตรนั้นได้รับความศักดิ์สิทธิ์จากพระเจ้าแล้ว

ถาม : ถ้าฝ่ายที่ไม่มีความเชื่อขอหย่าจากกัน ทำอย่างไร
เปาโล : ถ้าฝ่ายที่ไม่มีความเชื่อขอแยกจากกัน ก็ให้เขาแยกไปเถิด ในกรณีเช่นนี้ฝ่ายที่มีความเชื่อไม่ว่าชายหรือหญิงก็ไม่มีพันธะใดๆอีก พระเจ้าทรงเรียกท่านทั้งหลายให้อยู่อย่างสันติ

ถาม : แล้วคนอื่นๆควรประพฤติตนเช่นใด
เปาโล : สำหรับผู้อื่น จงดำรงอยู่ในสภาพที่องค์พระผู้เป็นเจ้าทรงจัดให้... คนที่ยังไม่แต่งงานควรอยู่ในสภาพที่เป็นอยู่ในเวลานี้(7:26) คนที่แต่งงาน ก็อย่าหาทางแยกพันธะนั้น..ท่านที่เป็นอิสระไม่มีภรรยาก็อย่าหาภรรยาเลย...โดยแท้จริงแล้วผู้ที่แต่งงานจะประสบความยุ่งยากในชีวิตสมรสและข้าพเจ้าใคร่จะให้ท่านพ้นจากความยุ่งยากนั้น(7:28) ส่วนคนที่แต่งงานแล้วก็จงอย่ายึดติด เพราะ “โลกดังที่เป็นอยู่กำลังจะผ่านไป”(7:31)

ถาม : ถ้าอยู่เป็นโสดดีอย่างไร
เปาโล : คนที่แต่งงานย่อมสาละวนกับการงานของโลก และหาวิธีทำให้สามีหรือภรรยาพอใจ แต่คนที่เป็นโสดย่อมสาละวนในการงานขององค์พระผู้เป็นเจ้า สามารถอุทิศตนแด่องค์พระผู้เป็นเจ้าได้โดยปราศจากความกังวลใจ(7:32-35)

ถาม : ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายไปแต่งงานใหม่ได้หรือไม่
เปาโล : ภรรยาย่อมมีพันธะผูกพันตราบที่สามียังมีชีวิตอยู่ ถ้าสามีสิ้นชีวิต นางย่อมเป็นอิสระที่จะแต่งงานใหม่กับใครก็ได้ตามที่นางปรารถนา แต่ต้องเป็นการแต่งงานในองค์พระผู้เป็นเจ้า ข้าพเจ้าคิดว่านางจะมีความสุขมากกว่า ถ้าจะคงอยู่อย่างที่เป็นและข้าพเจ้าเชื่อว่า ข้าพเจ้ามีพระจิตของพระเจ้าด้วย(7:39)

ข้อคิด
1) สภาพชีวิตของท่านเป็นอย่างไร ท่านแต่งงานแล้วหรือยัง
2) ท่านคิดว่าชีวิตแต่งงานจะช่วยให้ท่านมีชีวิตที่สมบูรณ์ได้อย่างไร
3) ทำไมเปาโลจึงเน้นให้อยู่เป็นโสด ไม่แต่งงาน

5. อาหารที่ถวายแด่รูปเคารพ(8:1-11:1)
ถาม : คริสตชนจะกินอาหารที่ถวายแด่รูปเคารพของศาสนาอื่นๆได้หรือไม่
คำตอบของเปาโล : กินได้เพราะของถวายแด่พระอื่นๆนั้นไม่มีความหมายอะไร เรามีพระเจ้าพระผู้สร้างแต่เพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น ของทุกอย่างมาจากพระเจ้า แต่ต้องระวังอย่าใช้เสรีภาพของท่านเป็นโอกาสให้ผู้ที่มโนธรรมอ่อนไหวต้องตกในบาป ถ้าอาหารเป็นเหตุให้พี่น้องตกในบาป ท่านก็จะไม่กินเนื้ออีก

III  ระเบียบในศาสนพิธี
6. งานเลี้ยงขององค์พระผู้เป็นเจ้า(11:17-34)
สภาพการณ์ : ในงานชุมนุมกัน มีการแตกแยก ขัดแย้ง ระหว่างคนรวยกับคนจน มีการกินที่เห็นแก่ตัว
คำตอบของเปาโล : ให้แต่ละคนจงพิจารณาตนเองแล้วจึงกินปังและดื่มจากถ้วย เพราะผู้ใดที่กินและดื่มโดยไม่ยอมรับรู้พระกายก็กินและดื่มการตัดสินลงโทษตนเอง และแนะนำให้จัดระเบียบให้เรียบร้อย

ข้อคิด : เราร่วมพิธีบูชามิสซาฯและเข้ารับศีลมหาสนิทด้วยความเหมาะสมหรือไม่ เราได้เตรียมตัวเพื่อการรับศีลมหาสนิทอย่างไร

7. พระพรพิเศษจากพระจิต(12:1-13:13)
สภาพการณ์ : แต่ละคนมีพระพรพิเศษต่างๆมากมายแต่ไม่ได้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์แก่หมู่คณะ และบางครั้งยังเป็นสาเหตุให้เกิดความแตกแยกอีกด้วย

คำสอนของเปาโล
1) พระพรพิเศษมีหลายประการแต่มีพระจิตเจ้าพระองค์เดียว มีหน้าที่หลายอย่างต่างกัน แต่มีองค์พระผู้เป็นเจ้าเพียงองค์เดียว กิจการมีหลายอย่าง แต่มีพระเจ้าพระองค์เดียวผู้ทรงกระทำทุกอย่างในทุกคน พระจิตเจ้าทรงแสดงพระองค์ในแต่ละคนเพื่อประโยชน์ส่วนรวม(12:4-7)
2) พระพรที่แตกต่างกันเปรียบเทียบกับร่างกายที่ประกอบด้วยอวัยวะต่างๆ(12:12-24)
3) ท่านทั้งหลายเป็นพระกายของพระคริสตเจ้า แต่ละคนต่างเป็นอวัยวะของพระกายนั้น(12:27)
4) พระพรที่สำคัญคือ ความรัก (13:1-13)

ข้อคิด :
1) ท่านได้รับพระพรพิเศษจากพระจิตเจ้าในเรื่องใดบ้าง และท่านได้ใช้พระพรนั้นเพื่อส่วนรวมอย่างไรบ้าง ท่านอาสาทำงานเพื่อส่วนรวมอะไรบ้าง
2) ถ้าให้ท่านสรุปความหมายของความรักตามคำสอนของเปาโล ท่านจะสรุปอย่างไร

IV  การกลับคืนชีพ
8. ข้อเท็จจริงเรื่องการกลับคืนชีพ(15:1-58)
สภาพการณ์
: เรื่องการกลับคืนชีพจากความตายเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง ชาวโครินธ์บางคนไม่เชื่อเรื่องนี้

คำสอนของเปาโล
1) เรื่องการกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้าเป็นแก่นกลางแห่งความเชื่อของคริสต์ศาสนา และสำหรับชีวิตของเปาโลเป็นพิเศษ การที่ท่านกลับใจและกล้าหาญในการประกาศข่าวดีนี้ก็เพราะท่านเชื่อในเรื่องนี้

2) ท่านประกาศว่า ท่านยึดมั่นในคำสอนจากพระคัมภีร์และประเพณีที่ได้รับมา คือ พระคริสตเจ้าได้สิ้นพระชนม์เพราะบาปของเรา และทรงถูกฝังไว้ พระองค์ทรงกลับคืนชีพในวันที่สามตามความในพระคัมภีร์

3) หลังจากนั้นพระองค์ได้ทรงแสดงองค์ให้แก่พี่น้องมากกว่า 500 คนในคราวเดียวกัน และแสดงองค์แก่ท่านด้วย ด้วยเหตุนี้ทำให้ท่านทำงานหนักเพื่อประกาศพระนามของพระเยซูคริสต์ ท่านประกาศว่า “ถ้าพระคริสตเจ้ามิได้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ การเทศน์ของเราก็ไร้ประโยชน์ และความเชื่อของท่านก็ไร้ประโยชน์เช่นเดียวกัน ยิ่งกว่านั้นเรากลายเป็นพยานเท็จถึงพระเจ้าเพราะเรายืนยันว่าพระเจ้าทรงปลุกพระคริสตเจ้าให้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ” (15:14-15) และอีกตอนหนึ่งว่า “ถ้าไม่มีการกลับคืนชีพ ทำไมเราจึงเสี่ยงอันตรายอยู่ตลอดเวลาเล่า”(15:30)

4) การกลับคืนพระชนมชีพจากบรรดาผู้ตายเป็นผลแรกของบรรดาผู้ล่วงหลับไป ความตายมาจากมนุษย์คนหนึ่งฉันใด การกลับคืนชีพจากบรรดาผู้ตายก็มาจากมนุษย์คนหนึ่งฉันนั้น(15:20) พระเยซูเจ้าทรงทำลายความตาย พระองค์ทรงเป็นทุกอย่างสำหรับทุกคน(15:28)

5) เราจงกลับมาดำเนินชีวิตอย่างถูกต้อง อย่าทำบาปอีก(15:34)

6) แล้วผู้ตายจะกลับคืนชีพอย่างไร? “ทุกคนจะกลับเป็นขึ้นมาพร้อมกับร่างกายของตนเองอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” แต่กายนี้ “จะได้รับการเปลี่ยนแปลงให้เป็นกานอันทรงพระสิริของพระองค์ คือ เป็น “การวิญญาณ”(15:44) “บางคนถามว่า คนตายจะกลับคืนชีพได้อย่างไร เขาจะกลับมีร่างกายแบบไหน ช่างโง่จริง เมล็ดที่ท่านหว่านลงไปนั้น จะมีชีวิตใหม่ได้อย่างไรถ้าไม่ตายเสียก่อน เมล็ดข้าวสาลีหรือเมล็ดพืชอื่นที่ท่านหว่านลงไปนั้นเป็นเพียงเมล็ดมิใช่ลำต้นที่จะงอกขึ้น สิ่งที่หว่านลงไปนั้นย่อมเน่าเปื่อย แต่สิ่งที่กลับคืนชีพนั้นไม่เน่าเปื่อยอีก เพราะธรรมชาติที่เน่าเปื่อยได้ของเรานี้ จะต้องสวมใส่ความไม่เน่าเปื่อย และธรรมชาติที่ต้องตายนี้จะต้องสวมใส่ความไม่รู้จักตาย”(15:35-37; 42:42-53)

V การทำบุญ:การจัดเก็บเงินบริจาค(2 คร8:1-15)
        เรื่องการให้รวบรวมเงินบริจาคให้กับบรรดาผู้ศักดิ์สิทธิ์ เปาโลเอาใจใส่เป็นพิเศษ และได้พยายามโน้มน้าวชาวโครินธ์ให้มีใจกว้างคือ

1) แม้คริสตชนในพระศาสนจักรต่างๆในแคว้นมาซิโดเนียจะยากจนและต้องทนทุกข์อย่างสาหัส เขาก็มีความสุข และยังมีใจกว้างบริจาคเงินช่วยเหลือกัน(2 คร 8:1-2) และการให้ย่อมทำให้ได้รับ(2 คร 9:6)

2) เราต้องปฏิบัติตามแบบอย่างของพระคริสตเจ้า “ท่านก็รู้อยู่แล้วถึงพระกรุณาของพระเยซูคริสต์ องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา แม้ทรงร่ำรวย พระองค์ทรงยอมกลายเป็นคนยากจนเพราะเห็นแก่ท่าน”(2 คร 8:9) “พระเจ้าทรงรักผู้ที่ให้ด้วยความยินดี”(2 คร 8:7)

3) พระเจ้าประทานสิ่งต่างๆให้แก่เรา เพื่อให้เรารู้จักให้ผู้อื่นด้วย  “ในยามที่ท่านมีความบริบูรณ์เช่นเวลานี้ ท่านควรช่วยเหลือผู้อื่นที่ขัดสน” (2 คร 8:14) “พระเจ้าประทานพระหรรษทานทุกประการแก่ท่านอย่างอุดม...เพื่อจะแจกจ่ายได้อย่างกว้างขวาง”(2 คร 8:8,11)

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์