การภาวนา
          การเข้าค่ายฯหรือการเข้าเงียบเป็นโอกาสให้สมาชิกได้มีประสบการณ์การภาวนาในรูปแบบต่างๆที่นอกเหนือไปจากที่เคยปฏิบัติเป็นประจำมา เป็นโอกาสให้ได้พบพระเจ้าด้วยวิธีที่หลากหลาย ในการจัดตารางเวลานั้นส่วนใหญ่จะจัดให้มีการภาวนาในเวลาเช้าและเวลาเย็น การภาวนาก่อนหลังอาหาร ก่อนนอน ฯลฯ



เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการภาวนาเป็นพิเศษ ถ้าจัดให้มีการภาวนาในวัดไม่ได้ ก็ให้เราจัดห้องใดห้องหนึ่งที่มีบรรยากาศภาวนา อาจจะตั้งรูปพระ มีเสื่อปูให้นั่งกับพื้น จุดเทียน หรือมีเพลงบรรเลง เช่น เพลงเทเซ่ เป็นต้น 

ต่อไปนี้เป็นองค์ประกอบที่ช่วยในการภาวนา

ดนตรี
         ใช้เพลงหรือดนตรีที่เยาวชนคุ้นเคย อาจจะให้พวกเขาได้ช่วยกันเลือกเพลงที่จะใช้เอง การเข้าเงียบเป็นโอกาสดีที่จะสอนเพลงใหม่ๆให้กับสมาชิก แต่อย่าให้มากเกินไป หรือเพลงที่ยากเกินไป ควรเลือกเพลงที่พวกเขาคุ้นเคย

         ควรเลือกเพลงบรรเลงที่มีท่วงทำนองเหมาะสมกับการภาวนาและการรำพึง อย่าลืมว่าเราใช้ดนตรีเพื่อการภาวนา ไม่ใช่เพื่อการขับร้องเล่นสนุก

        ในบางครั้งเราอาจจะเล่นดนตรีเองก็ได้ ถ้ามีทีมงานหรือมีสมาชิกที่มีความสามารถ อาจจะใช้ กีตาร์ ออร์แกน ขลุ่ยในการภาวนาก็ได้ ถ้าไม่มีใครเล่นดนตรี อาจจะใช้เทปหรือซีดีช่วยก็ได้

พระคัมภีร์
        ข้อความจากพระคัมภีร์เป็นส่วนสำคัญของการภาวนา เราอาจจะใช้เป็นหัวข้อของการภาวนาก็ได้ ให้เราเลือกอ่านข้อความให้สมาชิกฟัง แล้วให้มีการแบ่งปันพระวาจาในกลุ่มก็ได้

การภาวนาจากใจ
        การภาวนาจากใจอาจจะให้สมาชิกได้ภาวนาตามความต้องการของแต่ละคน หรือตามจุดประสงค์ของพระศาสนจักร ประเทศชาติ วัดโรงเรียน หมู่บ้านของเรา หรืออาจจะมีการเตรียมไว้ก่อนหน้าก็ได้

สัญลักษณ์
        เราอย่ามองข้ามพลังจากสัญลักษณ์ต่างๆทางศาสนา เราสามารถนำเอาสัญลักษณ์เหล่านี้มาใช้เพื่อการภาวนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ให้สมาชิกแต่ละคนรับเมล็ดพันธ์ระหว่างการภาวนาเรื่องของผู้หว่าน การจุดเทียน 7 เล่มเพื่อแสดงถึงศีลศักดิ์สิทธิ์ 7 ประการ หรือการแจกขนมปังในการเลี้ยงอากาเปเป็นต้น

        บางครั้งการภาวนาอาจจะใช้การแสดงละครใบ้ หรือการเล่าเรื่อง การแบ่งปันชีวิต ใช้บทกวี หรือการภาวนาประกอบท่าทาง แต่จงระวังว่าการภาวนาไม่ใช่การแสดง แต่ต้องมีบรรยากาศแห่งศรัทธา และชวนผู้ชมให้อยากสวดภาวนาคิดถึงพระเจ้า