การพูด (Talk) การบรรยาย การแบ่งปันประสบการณ์
การพูดเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดในประสบการณ์การเข้าค่ายๆ ทุกครั้งที่มีการประเมินผลผู้ที่มาเข้าค่ายฯจะรู้สึกพอใจกับการพูดหรือการแบ่งปันประสบการณ์ความเชื่อของแขกรับเชิญที่เป็นผู้ใหญ่และบรรดาทีมงานที่เป็นเยาวชนกันเองด้วย การพูดที่เป็นการแบ่งปันเรื่องราวของความเชื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงประจักษ์พยานด้วยชีวิต
ในอดีตภาพของการเข้าค่ายฯหรือการเข้าเงียบคือการนั่งฟังคุณพ่อหรือผู้เทศน์พูดยาวๆเป็นช่วงๆตลอดเวลา แต่ในปัจจุบัน การจัดการเข้าค่ายฯหรือเข้าเงียบ ทีมงานจะจัดให้สมาชิกได้รับฟังผู้พูดในหลากหลายวิธีด้วยกัน จะไม่ให้มีใครคนใดคนหนึ่งรับผิดชอบในการพูดจนมากเกินไป
ในการพูดหรือการแบ่งปันนี้จะต้องมีการวางแผนงานกันให้เหมาะสม ควรที่จะให้มีผู้พูดทั้งที่เป็นผู้ใหญ่และทีมชานเยาวชนเอง ทีมงานเยาวชนจะพูดจากประสบการณ์ของเยาวชนเอง พูดถึงความกังวลความกลัว การเอาชนะและความสัมพันธ์ คือ พูดจากประสบการณ์จริงที่เยาวชนได้ประสบมานั้นเอง เรื่องราวของความเชื่อส่วนตัวนี้จะมีพลังก่อให้เกิดผลแก่จิตใจของผู้ที่เข้าค่ายฯหรือเข้าเงียบอย่างมากที่เดียว
การให้มีผู้พูดหรือแบ่งปันที่เป็นทั้งผู้ใหญ่และเยาวชนนี้ จะเป็นโอกาสดีที่จะให้เยาวชนผู้นำ ผู้ปกครอง ซิสเตอร์ หรือคุณพ่อเจ้าอาวาส ได้มีโอกาสแบ่งปันความคิด ความรู้สึก และความเชื่อของตนเองแก่คนอื่น เพราะนอกจากจะก่อให้เกิดผลดีกับผู้ฟังแล้ว ยังทำให้ตัวผู้แบ่งปันเองมีความเชื่อที่มั่นคงมากยิ่งขึ้น เพราะความเชื่อยิ่งแบ่งปันยิ่งเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น
จงสนับสนุนให้ผู้พูดทุกคนได้ตริตรองและภาวนาถึงหัวข้อที่จะพูดก่อนที่จะลงมือเขียนเรื่องที่จะพูด อย่างน้อยมีโครงร่างถึงประเด็นสำคัญๆที่จะพูด ส่วนในการนำเสนอนั้นแล้วแต่ผู้พูดว่าจะจัดการอย่างไรจะให้ผู้ฟังนั่งเป็นวงกลม หรือนั่งเป็นแถว แต่สิ่งที่สำคัญที่ผู้พูดควรจะระลึกไว้ก็คือการเข้าค่ายฯหรือการเข้าเงียบมิใช่ห้องเรียน การพูดหรือแบ่งปันไม่ใช่การเทศน์หรือการสอนหนังสือ แต่เป็นโอกาสที่จะแบ่งปันประสบการณ์แห่งความเชื่อหรือสิ่งที่ได้ตริตรองมา การพูดหรือการแบ่งปันนี้อาจจะท้าทายให้ผู้ที่มารับการเข้าเงียบได้ตริตรองถึงสิ่งที่ได้ฟังมาต่อไปในชีวิต การพูดนี้รวมถึงเวลาในการภาวนาและการตริตรองด้วย