ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCESE

ช่องว่างระหว่างวัย
บริบทการสอน : ความแตกต่างระหว่างวัยเป็นปรากฏการณ์อย่างหนึ่งในช่วงชีวิตของทุกคน เด็กๆมักจะบ่นว่าผู้ใหญ่ไม่เข้าใจตนเอง ส่วนผู้ใหญ่ก็มักจะบ่นว่าเด็กสมัยนี้เข้าใจยาก อย่างไรก็ตามในฐานะที่เป็นเด็ก ตามพระบัญญัติประการที่ 4 เราต้องนบนอบเชื่อฟังผู้ใหญ่ บทเรียนนี้จึงมีจุดประสงค์เพื่อให้เด็กๆได้เข้าใจผู้ใหญ่ และปฏิบัติต่อผู้ใหญ่ด้วยความเคารพ โดยมีคำสอนจากพระคัมภีร์เป็นหลักในการดำเนินชีวิต

หัวเรื่อง : เราต้องเคารพรักปู่ย่าตายายของเรา

พระคัมภีร์ : สุภาษิต 16:31
•    “ผมหงอก​เป็น​มงกุฎ​สง่างาม ผู้​ดำเนิน​ชีวิต​ด้วย​ความ​ชอบ​ธรรม​จึง​จะ​หา​พบ​ได้”

ภาพรวมของกิจกรรม : ให้เด็กๆได้แสดงบทบาทสมมุติเป็นคนสูงอายุ แล้วให้มีการไตร่ตรองคำสอนจากพระคัมภีร์ แล้วให้มีการพูดคุยกันถึงความสัมพันธ์และการปฏิบัติตนกับผู้สูงอายุ

สิ่งที่ต้องจัดเตรียม : ผ้าพันคอ เชือกเกลียวยาว 2 ฟุต เป้บรรจุของหนักประมาณ 5 กิโล และพระคัมภีร์

ดำเนินการ
1.    ประสบการณ์
•    ให้หาอาสาสมัครคนหนึ่งแสดงเป็นคุณปู่หรือคุณย่า ให้คนหนึ่งช่วยผูกตาคุณปู่หรือคุณย่านั้น เอาเชือกเกลียวผู้ที่ข้อเท้า(หลวมๆ) ทำให้เดินลำบาก เอาเป้หนักๆให้แบก
•    จากนั้นให้ทุกคน (รวมทั้งคุณปู่หรือคุณย่า) เดินเขย่ง ๆไปรอบๆห้อง โดยกำหนดเส้นเริ่มต้น และเส้นสิ้นสุด ให้เดินสักสองหรือสามรอบ (บางรอบให้ถอดรองเท้าเดินหรือให้ปิดตาเดินก็ได้)
•    เมื่อให้มีประสบการณ์ในการเดินแล้วให้เชิญทุกคนนั่งเป็นวงกลม (อาจจะแบ่งเป็นกลุ่มย่อย 3-4 คนก็ได้)

2.    คำสอนและไตร่ตรอง
•    ให้แจกพระคัมภีร์เด็กๆ หรือ ให้เด็กทุกคนได้อ่านพระคัมภีร์ตามลำดับ โดยเปิดพระคัมภีร์ สุภาษิต 16:31 ให้อ่าน“ผมหงอก​เป็น​มงกุฎ​สง่างาม ผู้​ดำเนิน​ชีวิต​ด้วย​ความ​ชอบ​ธรรม​จึง​จะ​หา​พบ​ได้” อ่านให้ครบทุกคนในกลุ่ม และอาจจะให้มีการเลือกคำที่ประทับใจก็ได้ (ให้อ่านแบบสำรวม อ่านแบบภาวนา สงบและจริงจัง)

•    ตั้งคำถาม โดยการเขียนในบัตรคำหรือบนกระดาน หรือบอกปากเปล่า
1) รู้สึกอย่างไรจากประสบการณ์การเดินที่ผ่านมา
2) รู้สึกอย่างไรที่เห็นอาสาสมัครที่เป็นคนสูงอายุต้องเดินด้วยความยากลำบาก
3) อาสาสมัครของเราต้องประสบความยากลำบากในการเดินอย่างไรบ้าง
4) รู้สึกอย่างไรกับคนสูงอายุ
5) ถ้าเราเป็นคนสูงอายุเราจะเป็นอย่างไร้บ้าง
6) เราจะนำเอาพระคัมภีร์สุภาษิต 16:31 มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติต่อผู้สูงอายุได้อย่างไรบ้าง
7) วัฒนธรรมไทยสอนให้เราปฏิบัติตัวต่อผู้ใหญ่อย่างไร
8) เราจะปฏิบัติตัวอย่างไรต่อผู้ใหญ่ที่อยู่ในครอบครัวของเรา ในวัด โรงเรียน และสังคม


3.    แบ่งปัน
•    ให้เด็กได้พูดคุยกัน โดยผู้นำอาจจะตั้งคำถามเป็นข้อๆ แล้วให้คุยกัน หรือผู้นำอาจจะเขียนคำถาม แจกให้พวกเขาได้นำการแบ่งปันในกลุ่มก็ได้
•    เมื่อเสร็จแล้วให้รวมกลุ่มเพื่อภาวนาปิด

4.    การปฏิบัติและภาวนาปิด
•    ให้อ่าน สุภาษิต 16:31 อีกครั้งหนึ่ง
•    ผู้นำกล่าว “พระคัมภีร์สอนเราให้เคารพรักบรรดาผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีอายุมากกว่าเรา ให้เราจับคู่กันและลองบอกเพื่อนว่า ผู้ใหญ่ในบ้านของเรามีใครบ้าง และบอกข้อตั้งใจว่าเราจะปฏิบัติตนอย่างไรกับผู้ใหญ่ของเรา (ให้ระบุบุคคลเลย เช่น คุณปู่ที่บ้าน ผม/ฉันจะช่วยหยิบของให้ท่าน เพราะตาของท่านไม่ค่อยดี และการหยิบสิ่งของมักจะไม่ค่อยสะดวก ...ข้อตั้งใจให้เป็นรูปธรรมเลย)
•    เมื่อจบแล้วให้ภาวนาให้กับพ่อแม่ ปู่ย่าตายายของพวกเรา ด้วยบทภาวนาที่พระเยซูเจ้าทรงสอนไว้ “ข้าแต่พระบิดาของข้าพเจ้าทั้งหลาย.......”
•    ผู้นำให้กำลังใจและติดตามโดยการสอบถามถึงข้อตั้งใจที่จะกระทำในครั้งต่อไป

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

คาทอลิกไทย "รวมพลังรักษ์โลก" ค.ศ.2024-2025

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์