วิธีสอนให้เด็กนิ่งเงียบเพื่อการภาวนาวิธีสอนให้เด็กนิ่งเงียบเพื่อการภาวนา
          ท่านคิดว่าเด็กๆของเราเงียบเป็นหรือไม่ เงียบได้หรือไม่... แน่นอนเด็กๆของเราเงียบได้ ความเงียบเป็นความต้องการอย่างหนึ่งในจิตใจของเราทุกคน เช่นเดียวกับต้องการพูดคุย อาหาร หรือเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม แต่เขาไม่ได้พบน้อยมากในชีวิตประจำวัน ดังนั้นครูจะต้องจัดหาเวลาเงียบให้กับเด็กๆของเรา โดยเริ่มจากระยะเวลาสั้นๆแล้วค่อยเพิ่มขึ้นตามความสามารถของเด็กของท่าน
นั่งสมาธิ – เป็นวิธีการที่เราคนไทยคุ้นเคยอยู่แล้ว แม้แต่เด็กระดับอนุบาลก็สามารถทำได้ โดยฝึกเด็กๆในระยะเวลาที่เหมาะสม “นั่งหลังตรง วางเท้าทั้งสองบนพื้น วางมือบนตัก หลับตา หายใจเข้าออกอย่างช้าๆ ให้อยู่เงียบๆจนสามารถฟังเสียงลมหายใจของตนเองได้” เมื่อเด็กนั่งเงียบแล้ว ครูอาจจะให้เด็กนั่งเงียบๆสัก 2 นาที หรือให้นับลมหายใจเข้าออก 10 ครั้ง หรือ 20 ครั้ง หรือ 30 ครั้ง แล้วแต่อายุของเด็ก และให้เพิ่มขึ้นในแต่ละครั้ง โดยให้ใจจดจ่อกับลมหายใจเท่านั้น ไม่ต้องไปนึกถึงอะไรเลย

                 อีกวิธีหนึ่งให้เด็กนั่งสมาธิ เมื่อนิ่งเงียบแล้ว ให้ครูอ่านเรื่องใดเรื่องหนึ่งจากพระคัมภีร์ที่เราต้องการให้เด็กได้เรียนรู้ ให้พวกเขาฟังอย่างตั้งใจ ให้เรื่องในพระคัมภีร์ได้พูดภายในใจของพวกเขา

ให้เด็กเงียบเพื่อคิดเป็นช่วง ๆ ในตอนที่สำคัญ – ในระหว่างที่ครูกำลังสอน ครูอาจจะให้เด็กๆหยุดเงียบชั่วครู่หนึ่งเพื่อไตร่ตรองเรื่องที่เพิ่งได้รับฟัง อาจจะหลังการอ่านพระคัมภีร์ถึงตอนที่สำคัญหรือตอนที่เป็นข้อคิด เพื่อให้พวกเขาได้ภาวนา หรืออาจจะเป็นช่วงสุดท้ายของการเรียน เพื่อเป็นจุดสุดยอดของการเรียน ครูอาจจะวางแผนมาก่อนหรืออาจจะหาจังหวะที่เหมาะสมเองตามที่พระจิตเจ้าทรงนำเพื่อให้เด็กได้รู้จักเงียบเพื่อไตร่ตรองถึงข้อคำสอนที่เพิ่มได้รับฟัง

ให้เงียบเพื่อคิดหาคำตอบ – ในบางครั้งครูอาจจะตั้งคำถามแล้วท้าทายให้เด็กๆได้คิดหาคำตอบ ความเงียบประเภทนี้อาจจะทำให้ครูอึดอัด เพราะเด็กๆอาจจะไม่มีใครอาสาตอบ ดังนั้นครูอาจจะดำเนินการ โดยตั้งคำถามให้เด็กแต่ละคนนิ่งเงียบเพื่อคิดหาคำตอบ จากนั้นให้จับคู่กันตอบคำถามนั้น ที่สุดให้ตัวแทนของกลุ่มตอบคำถามนั้นกับสมาชิกทั้งหมด วิธีการนี้เป็นการฝึกเด็กๆให้รู้จักคิดและกล้าตอบทีละเล็กทีละน้อย

ให้เงียบก่อนตั้งคำถาม - ให้ครูบอกกับเด็กๆว่าต่อไปนี้ครูจะถามคำถามให้แต่ละคนตอบ คำตอบอาจจะมีได้ในหลายๆรูปแบบ ขอให้ฟังคำถามให้ดีๆ จากนั้นให้ครูนิ่งเงียบสักครู่หนึ่งเพื่อให้เด็กๆเตรียมความพร้อม เมื่อพวกเขาเงียบได้แล้วครูจึงให้คำถามให้พวกเขาได้คิดในความเงียบสักสองสามนาที ให้พวกเขาได้ไตร่ตรองจากภายใน แล้วให้ตอบคำถามต่อหน้าทุกคน

ให้พูดในใจกับตนเอง – เมื่อครูได้อธิบายข้อคำสอนหรือหลักธรรมหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งแล้วให้เชิญชวนเด็กๆได้เงียบสักครู่หนึ่งเพื่อ “พูดในใจกับตนเอง” เกี่ยวกับคำสอนที่เพิ่มได้เรียนรู้ไปนั้น หลังจากนั้นให้เด็กๆได้แบ่งปันความคิดที่เกิดขึ้นในใจของตนเองกับเพื่อนๆ โดยที่ครูอาจจะเพิ่มเติมข้อคิดบางสิ่งบางอย่างในรูปแบบของการพูดคุยกับพวกเขาก็ได้

จัดบรรยากาศให้เหมาะสม – อีกประการหนึ่งที่สำคัญคือบรรยากาศในห้อง ครูสามารถทำให้เด็กๆรู้จักเงียบและสงบได้โดยการจัดบรรยากาศของห้องเรียนให้สะอาด สงบ มีระเบียบ แสงที่เหมาะสม ฯลฯ บรรยากาศภายนอกช่วยทำให้เกิดความสงบได้อย่างดี

สังเกตปฏิกิริยาของเด็ก – บางครั้งการที่เด็กไม่สามารถสงบเงียบได้เนื่องมาจากพวกเขามีความวุ่นวายภายในจิตใจ เช่น ความเครียด ความโกรธเคือง ความหิว ความทุกข์กังวล ความหมดหวัง การทะเลาะกัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กๆไม่สามารถที่จะฟังเสียงอันแผ่วเบาของพระเจ้าได้ ครูควรสังเกตเด็กเป็นรายบุคคล และถ้าผิดสังเกตครูควรเข้าช่วยเหลือ ถ้าจำเป็นครูอาจจะต้องพาเด็กๆของเราไปพบจิตแพทย์เพื่อการบำบัด

พบปะพูดคุยกับเด็กๆด้วยความสุภาพ – เมื่อครูต้องอยู่กับเด็กๆ ครูควรที่จะพูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กๆด้วยท่าทีที่สุภาพ ให้เด็กได้สัมผัสกับความรักความอบอุ่นจากการได้อยู่กับครู ควรพูดด้วยน้ำเสียงที่อ่อนหวานและราบเรียบ ครูอาจจะทำข้อตกลงกับเด็กๆสัก 4-5 ข้อเพื่อสร้างข้อปฏิบัติร่วมกันในห้องเรียน ในข้อหนึ่งควรที่จะมีกฎที่ว่า “ห้ามพูดขณะที่ครูกำลังสอน” แล้วให้ครูเน้นให้พวกเขาเคารพในข้อตกลงที่ร่วมกันจัดทำขึ้นนั้นเป็นต้น

               การเงียบไม่ได้หมายความว่าไม่ต้องทำอะไร แต่ความนิ่งเงียบเป็นการเปิดพื้นที่ให้พระจิตเจ้าได้เสด็จเข้ามาทำงานในจิตใจของเด็กๆเพื่อทำให้ความเชื่อและความรักต่อพระเจ้าได้เจริญเติบโตขึ้น

ข้อคิด
ครูมีความรู้สึกอย่างไรเกี่ยวกับความเงียบ ไม่ว่าจะเป็นความเงียบภายนอกและความเงียบภายใน ครูเคยรู้สึกกลัวความเงียบบางไหม ทำไม
ครูมีวิธีอยู่เงียบๆอย่างไร การอยู่เงียบมีประโยชน์อะไรต่อชีวิตของครูบ้างหรือไม่

ข้อปฏิบัติ
ให้ครูจัดเวลาอยู่เงียบๆในแต่ละวัน โดยกำหนดเวลาที่เริ่มจากสั้นก่อนแล้วค่อยๆเพิ่มมากขึ้น
วางแผนการจัดเวลาให้เด็กได้มีเวลาเงียบในการสอนของครู
ให้สวดภาวนาก่อนการสอน ระหว่างการสอน และหลังการสอน