บทที่  31 ฤทธิ์กุศล

จุดมุ่งหมาย     เพื่อให้ผู้เรียนรู้ฤทธิ์กุศลต่างๆ และนำมาฝึกฝนและปฏิบัติเพื่อเสริมความมั่นคงให้แก่ชีวิต

ขั้นที่ 1  กิจกรรม       ครูเล่าเรื่องต่อไปนี้ให้ผู้เรียนฟัง
หินแห่งปัญญา
          วันหนึ่ง เจ้านายสั่งบ่าวให้ไปดูที่อาบน้ำสาธารณะว่ามีคนมากหรือน้อย บ่าวก็ออกไปดูตามคำสั่ง เห็นผู้คนเป็นอันมาก แต่ประตูทางเข้าที่อาบน้ำนั้นมีก้อนหินใหญ่ขวางอยู่ก้อนหนึ่งใครเดินเข้าก็สะดุดเดินออกก็สะดุดเสียหลายคน แต่คนเหล่านั้นก็หันมามองด้วยสายตาตำหนิ แล้วบ่นพึมพำว่า “ใครหนอชั่งสะเพร่าเอาหินมาวางไว้ตรงนี้” แล้วก็เดินเลยไป
           ต่อมามีหนุ่มคนหนึ่ง เดินเข้าไป ณ ที่อาบน้ำ ก็สะดุดหินก้อนนั้นเข้าอีก เขาจึงก้มลงยกก้อนหินนั้นไปวางที่อื่น คราวต่อไปจึงไม่มีใครสะดุดก้อนหินนั้นอีกเลย
           บ่าวจึงกลับไปรายงานให้เจ้านายทราบว่า “ณ ที่อาบนั้นมีคนเพียงคนเดียวเท่านั้น” เจ้านายก็ดีใจเพราะจะได้อาบน้ำสบายๆไม่มีใครรบกวน จึงจัดแจงแต่งตัวและออกเดินทางไป พอถึงก็เห็นผู้คนมากมาย ณ ที่อาบนั้น เจ้านายโกรธมาก สำทับถามบ่าวว่า “ทำไมจึงบอกข้าว่ามีคนเพียงคนเดียว แล้วที่เห็นเป็นกองนั้นเป็นอะไรเล่า ?” บ่าวก็ตอบว่า “เมื่อข้าพเจ้ามา ข้าพเจ้าเห็นก้อนหินตั้งขวางอยู่ที่ประตูทางเข้าใครมาก็สะดุด ไม่เห็นมีใครยกก้อนหินนั้นออกไปเลย ต่อมามีคนๆหนึ่งเดินมาสะดุดหินนั้นเข้า ก็ยกหินนั้นไปวางเสียที่อื่น ดังนั้นจึงไม่มีใครสะดุดอีกต่อไป ข้าพเจ้าจึงนับได้ว่าคนคนเดียวที่ยกก้อนหินไปเสียที่อื่นนั่นแหละเป็นคน นอกนั้นไม่ใช่คน ข้าพเจ้าจึงบอกกับท่านตามจริงนี้แหละ” เจ้านายได้ฟังก็เห็นจริงและชมเชยบ่าวนั้น

ขั้นที่ 2  วิเคราะห์

ครูถามผู้เรียนว่า
- รู้สึกอย่างไรต่อเรื่องที่ได้ฟังนี้ ?
- รู้สึกอย่างไรต่อบ่าวในเรื่องนี้ ?
- ตามความเห็นของบ่าว การเป็นคนอยู่ที่ตรงไหน ?
- ผู้เรียนเห็นด้วยหรือไม่ ?
- เรื่องนี้บทสอนอะไร ?

สรุป    การเป็นคนมิใช่นับกันที่รูปร่าง หน้าตา แต่นับกันด้วยคุณธรรม ดังนั้น ความเสียสละ ความไม่เห็นแก่ตัวของหนามในเรื่องที่ได้ฟังนี้

ขั้นที่ 3  คำสอน
           1. คุณธรรม ที่ทำให้คนเป็นคน เราคริสตชนมักเรียกว่า “ฤทธิ์กุศล” คือ อุปนิสัยหรือพลังที่ผลักดันมนุษย์ให้กระทำความดีได้ง่ายและอย่างมีประสิทธิภาพ

               ฤทธิ์กุศลบางอย่างได้มาด้วยการฝึกฝนตนเอง มีที่สำคัญอยู่ 4 ประการ คือ ความฉลาดรอบคอบ ความยุติธรรม ความเข้มแข็ง และความมัธยัสถ์ ดังมีกล่าวไว้ในพระคัมภีร์ว่า “หากผู้ใดรักคุณงามความมดี คุณธรรมนั้นแหละเป็นผลงานของพระปรีชาญาณ พระปรีชาญาณนี่แหละสอนความรู้ประมาณ (มัธยัสถ์) และความรอบคอบ (เฉลียวฉลาดรอบคอบ) ความยุติธรรม และความกล้าหาญ (เข้มแข็ง) ไม่มีสิ่งใดในชีวิตที่จะมีคุณประโยชน์แก่มนุษย์มากกว่าคุณธรรมเหล่านี้” (ปชญ. 8,7) ฤทธิ์กุศลทั้ง 4 ประการนี้ จึงรวมเรียกว่า “ฤทธิ์กุศลหลัก” เพราะเป็นพื้นฐานของฤทธิ์กุศลอีกหลายประการที่สืบเนื่องต่อมา
             ฤทธิ์กุศลบางอย่างเป็นของประทานจากพระเป็นเจ้า มีที่สำคัญอยู่ 3 ประการ คือ ความเชื่อ ความไว้ใจ และความรัก และในจำนวนนี้ ความรักใหญ่ที่สุด” (1 คร. 13,13) ฤทธิ์กุศลทั้งสามประการนี้จึงรวมเรียกว่า “ฤทธิ์กุศลเหนือธรรมชาติ” เพราะลำพังมนุษย์เราไม่สามารถฝึกฝนขึ้นมาเองได้ต้องอาศัยพระเป็นเจ้าประทานให้

           2. “ฤทธิ์กุศลหลัก” ที่เกิดจากการฝึกฝนตนเองของมนุษย์เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะรองรับ “ฤทธิ์กุศลเหนือธรรมชาติ” ทั้งนี้ก็เพราะพระเป็นเจ้าจะมิทรงกระทำการใดๆโดยมนุษย์มิได้ร่วมมือด้วย ดังนักบุญมาระโกบันทึกไว้ในพระวรสารของท่านว่า “พวกสาวกออกไปเทศนาทุกแห่งหน และพระเป็นเจ้าทรงร่วมงานกับพวกเขา” (มก. 16,20) เมื่อพวกสาวกร่วมมือกับพระเป็นเจ้าโดยทำหน้าที่ในส่วนของตน พระเป็นเจ้าก็ประทานความช่วยเหลือสนับสนุนในส่วนของพระองค์ งานประกาศพระวรสารก็ดำเนินไปและเกิดผลดี
นักบูญเอากุวตินได้กล่าวถ้อยคำที่น่าสะกิจใจว่า “พระเป็นเจ้าผู้ทรงสร้างท่านโดยปราศจากท่าน จะไม่ทรงช่วยท่านให้รอดโดยปราศจากท่าน”

           3. เราฝึกฝน ความฉลาดรอบคอบ โดยรู้จักพิจารณาอย่างรอบคอบ รู้จักตัดสินโดยยึดข้อมูลที่ได้มาจากการพิจารณา และลงมือปฏิบัติตามการตัดสินใจนั้น
               เราฝึกฝน ความยุติธรรม โดยรู้จักเคารพสิทธิของผู้อื่น สิ่งใดเป็นของผู้ใดก็ต้องมอบให้แก่ผู้นั้น รู้จักชดเชยหนี้สินค่าเสียหายให้แก่ผู้อื่นอย่างครบถ้วน
               เราฝึกฝน ความเข้มแข็ง โดยอดทนความยากลำบากในการทำหน้าที่ หรือที่ผู้อื่นก่อขึ้นแก่เรา โดยไม่บ่นไม่ว่า
               เราฝึกฝน ความมัธยัสถ์ โดนรู้จักพอใจในสิ่งที่ตนมี รู้จักสำรวจตน ไม่ฟุ้งเฟ้อตามกระแสบริโภคนิยม

           4. เป้าหมายของ “ฤทธิ์กุศลเหนือธรรมชาติ” ก็คือ พระเป็นเจ้า เราจึงวอนขอพระองค์ประทาน
ความเชื่อ เพื่อให้เรายึดมั่นและซื่อสัตย์ภักดีต่อพระองค์ผู้ทรงเป็นองค์ความจริงเที่ยงแท้
ความไว้ใจ เพื่อให้เรามอบความไว้วางใจอย่างเต็มเปี่ยมแด่พระองค์ ผู้ทรงเป็นองค์ความดีทุกประการ
ความรัก เพื่อให้เรารักและสนิทชิดเชื้อกับพระองค์ ผู้ทรงเป็นองค์ความดีทุกประการ

           5. คุณธรรมสร้างคน ฤทธิ์กุศลสร้างคริสตชน เราจึงพึงเอาใจใส่ทำให้ชีวิตของเรามีคุณค่า โดยฝึกฝนฤทธิ์กุศลหลักอย่างมุ่งมั่นและต่อเนื่อง เพื่อให้ได้เป็นคนสมบูรณ์ครบครัน ซึ่งเป็นการบรรลุถึงจุดหมายของชีวิตนี้ และพึงเอาใจใส่สวดภาวนาขอพระเป็นเจ้าประทานฤทธิ์กุศลเหนือธรรมชาติซึ่งจำเป็นสำหรับความรอดและร่วมมือกับพระองค์เพื่อให้ได้ฤทธิ์กุศลเหล่านั้นทำงานในตัวเราอย่างเกิดผล ทำให้เราเป็นคริสตชนที่สมบูรณ์ ซึ่งเป็นการบรรลุจุดหมายของชีวิตหน้า.

 ขั้นที่ 4  ปฏิบัติ

  • ข้อควรจำ
    1. ฤทธิ์กุศลคืออุปนิสัยหรือพลังที่ผลักดันเราให้กระทำความดีได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ
    2. ฤทธิ์กุศลหลัก คือ ความฉลาดรอบคอบ ความยุติธรรม ความเข้มแข็ง และความมัธยัสถ์ ได้มาโดยฝึกฝนตนเอง ทำให้เป็นคนที่สมบูรณ์
    3. ฤทธิ์กุศลเหนือธรรมชาติ คือ ความเชื่อ ความไว้ใจ และความรัก ได้มาโดยพระเป็นเจ้าประทานให้ ทำให้เราเป็นคริสตชนที่สมบูรณ์
    4. ต้องร่วมมือกับพระเป็นเจ้าเพื่อให้ได้มาซึ่งฤทธิ์กุศล และทำให้ฤทธิ์กุศลนั้นเกิดผลในตัวเรา โดยฝึกตนเอง สวดภาวนา เป็นต้น
  • กิจกรรม สวดบทภาวนาต่อไปนี้อย่างตั้งใจและศรัทธา
                 1.บทแสดงความเชื่อ
                 2.บทแสดงความไว้ใจ
                 3.บทแสดงและความรัก

    การบ้าน หมั่นสวดภาวนา 1.บทแสดงความเชื่อ  2.บทแสดงความไว้ใจ 3.บทแสดงและความรัก   ทุกวัน ในเวลาเช้าหรือเวลาเย็นร่วมด้วย