ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

ความสำคัญของการจาริกพระธาตุ (คุณพ่อบอสโก) ไปทั่วโลกความสำคัญของการจาริกพระธาตุ (คุณพ่อบอสโก) ไปทั่วโลก
ถอดความโดย.. กระเจี๊ยบแดง

             (เกริ่นนำ)  ในจดหมายของ คุณพ่อวาคลาฟ เคลเมนต์ ได้อ้างถึงความคิดของ คุณพ่อปัสกวัล ชาเวซ วิลลานูเอวา อัคราธิการซาเลเซียน ที่เสนอให้มีการแห่ “พระธาตุคุณพ่อบอสโก” ไปตามแขวงซาเลเซียนรอบโลกนั้น นับเป็นการเตรียมตัวของเราสำหรับการเฉลิมฉลองครบรอบ 200 ปีแห่งการเกิดของคุณพ่อบอสโกในปี 2015 โดยพระธาตุของคุณพ่อบอสโกจะเดินทางไปตามบ้านซาเลเซียนในทวีปอเมริกา เอเชีย-โอเชียเนีย เอเชียใต้ แอฟริกา ยุโรป และอิตาลี ตามลำดับ ซึ่งการเคลื่อนย้ายพระธาตุของคุณพ่อบอสโกในครั้งนี้ จะอยู่ภายใต้การประสานงานของฝ่ายงานธรรมทูตของคณะฯ ซึ่งมี คุณพ่อปีแอร์ ลุยจี ซุฟเฟตตี เป็นผู้รับผิดชอบ โดยการว่าจ้าง บริษัทแบร์โตลี จำกัด มาทำหน้าที่ในการขนย้าย ขนส่งพระธาตุคุณพ่อบอสโกไปตลอดการเดินทางในครั้งนี้
              และก่อนที่พระธาตุคุณพ่อบอสโกจะเดินทางมาถึงประเทศไทยของเรา ในราวกลางเดือนพฤศจิกายน ปลายปีนี้ นิตยสารดอนบอสโกขอนำเสนอเรื่องราว แง่มุมต่างๆ เกร็ดความรู้เล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับ “พระธาตุ” ในประวัติศาสตร์ของพระศาสนจักร และในธรรมประเพณีของคณะซาเลเซียน เพื่อให้เราแต่ละคนจะได้เตรียมตัวอย่างดีในการต้อนรับคุณพ่อบอสโก ที่กำลังเดินทางมาเยี่ยมบ้านของเรา  

       
 1. “ธรรมเนียมประเพณีการเคารพระธาตุในพระศาสนจักร”

1.1 ความตายในความหมายของคริสตชนในศตวรรษแรกๆ

            เหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ได้แก่ การเสด็จกลับคืนพระชนมชีพของพระเยซูเจ้า บรรดาอัครสาวกและสานุศิษย์รุ่นแรกๆ ค่อยๆ เข้าใจทุกสิ่งทุกอย่าง ตามที่พระบุตรทรงเปิดเผยให้พวกเขาทราบทีละเล็กทีละน้อย หลังจากการประจักษ์มาของพระเยซูเจ้าผู้ทรงกลับคืนพระชนมชีพ และการเสด็จลงมาขององค์พระจิตเจ้า  พระวรสารได้ยืนยันหลายครั้งหลายหนว่า พระเยซูเจ้าทรงประกาศชัดเจนถึงการสิ้นพระชนม์ และการกลับคืนพระชนมชีพของพระองค์ ให้บรรดาอัครสาวกได้ฟังบ่อยๆ  ในฉากที่เล่าถึงการฟื้นคืนชีพของ ลาซารัส พระเยซูเจ้าทรงแสดงเครื่องหมายแห่งพลังที่ช่วยให้รอดของพระองค์  ด้วยการให้หลักประกันแก่ชุมชนคริสตชนกลุ่มแรกว่า ทุกคนที่เชื่อในพระองค์ผู้ทรงเป็น “ชีวิตและการกลับคืนชีพ” จะมีชีวิตนิรันดร์อย่างแน่นอน


            “เมื่อมาร์ธาได้ยินว่า พระเยซูกำลังเสด็จผ่านมา  นางรีบเดินทางไปพบพระองค์  ส่วนมารีย์คอยอยู่ที่บ้าน  มาร์ธาทูลพระเยซูว่า “พระเจ้าข้า หากพระองค์ทรงประทับอยู่ที่นี่ น้องชายของดิฉันก็คงจะไม่ตาย กระนั้นก็ดี ดิฉันเชื่อแน่ว่า สิ่งใดที่พระองค์ทูลขอต่อพระบิดาเจ้า พระองค์จะประทานให้”  พระเยซูเจ้าตรัสตอบเธอว่า “น้องชายของเธอจะฟื้นคืนชีพ”  มาร์ธาตอบว่า “ถูกต้องพระเจ้าข้า ดิฉันรู้ดีว่าเขาจะต้องกลับคืนชีพในวันสุดท้ายอย่างแน่นอน”  พระเยซูทรงตอบเธอว่า “เราเป็นชีวิตและการกลับคืนชีพ  ใครก็ตามที่เชื่อในเรา แม้ว่าตายไปแล้ว ก็จะกลับมีชีวิตอีก และใครๆ ที่เจริญชีวิตและเชื่อถึงเรา จะไม่มีวันตายเลย เธอเชื่อเช่นนี้หรือไม่?” เธอตอบพระองค์ว่า “เชื่อพระเจ้าข้า ดิฉันมาถึงจุดที่เชื่อว่าพระองค์ทรงเป็นพระแมสซียาห์ พระบุตรของพระเจ้าสูงสุด ผู้ซึ่งจะเสด็จมาในโลกนี้” (ยน11,20–27)”


           ศาสนาของพวกต่างด้าวในอาณาจักรโรมัน มีทัศนคติที่แตกต่างกันไปเกี่ยวกับความตาย ส่วนใหญ่จินตนาการเอาว่า “ชีวิตหลังความตาย” คือ ดินแดนที่เหล่าวิญญาณยังคงสิงสถิตอยู่ แต่ “ความดี” กับ “ความชั่ว” ก็มีอยู่ด้วยกันเหมือนเป็นเงาตามตัว


ส่วนบรรดาคริสตชนคิดว่า พวกเขาสามารถเข้าสวรรค์ได้ ก็ต่อเมื่อมีความเชื่อในพระเยซูเจ้า และปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์เท่านั้น นับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่เราทุกคนต้องสังกัดใน “ชุมชนคริสตชน” เนื่องจากว่า ไม่มีผู้ใดสามารถเอาตัวรอดได้โดยลำพัง พระเยซูเจ้าทรงพาบรรดาสานุศิษย์ไปด้วยทุกหนทุกแห่ง ตั้งแต่สมัยแรกๆ แม้กระทั่งหลังจากเสด็จขึ้นสู่สวรรค์ไปแล้ว พวกเขาก็ยังชุมนุมกัน เพื่อทำพิธีบิขนมปัง ดั่งที่พระอาจารย์ได้แนะนำ

1.2 ชุมชนเมื่อมีชีวิตอยู่ และหลังความตาย


            สำหรับคริสตชนแล้ว ความเชื่อและการนมัสการพระเจ้าเพียงหนึ่งเดียว ไม่ได้เป็นเรื่อง “ส่วนตัว” เท่านั้น  แต่เป็นเรื่องที่มีอิทธิพลทั้งต่อบุคคลและสังคมโดยรวม พระเยซูเจ้าได้ทรงเปิดเผยว่า พระเจ้าเป็นบิดา “จงดูเถิดว่า พระเจ้าทรงรักเราเพียงใด ถึงกับโปรดให้เราได้ชื่อว่า เป็นบุตรของพระองค์ แล้วเราก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ” (1ยน.3,1) ความสำนึกที่ฝังลึกในใจของคริสตชนเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาในฐานะบุตรของพระเจ้า ซึ่งท้ายที่สุดแล้วทำให้พวกเขาเป็นพี่เป็นน้องกัน  นักบุญเปาโลได้เขียนไว้ในจดหมายหลายฉบับ ในเชิงเปรียบเทียบกลุ่มคริสตชนว่า เป็นเหมือนอวัยวะ.. พระกายทิพย์.. พร้อมทั้งเรียกพระเยซูเจ้าว่าเป็นศีรษะ : “พระองค์ทรงเป็นศีรษะของร่างกาย ซึ่งได้แก่ พระศาสนจักร พระองค์ทรงเป็นจุดเริ่มต้น เป็นบุคคลแรกที่ฟื้นขึ้นมาจากความตาย เพื่อว่าพระองค์จะทรงอยู่เหนือทุกสิ่ง” (คส.1,18)


            พระคริสตเจ้าทรงประทับอยู่ท่ามกลางชุมชนของผู้มีความเชื่ออย่างลึกลับ แต่รู้สึกได้ว่าเป็นจริง เนื่องจาก “ที่ใดมีสองหรือสามคนอธิษฐานภาวนาในนามของเรา เราจะอยู่ที่นั่นท่ามกลางพวกเขา” (มธ18, 20)


            ยิ่งไปกว่านั้น  หนังสือกิจการอัครสาวกยังได้ยืนยันอีกว่า กลุ่มคริสตชนเริ่มแรกเจริญชีวิตด้วยการเป็นพยานอย่างแท้จริง ด้วยการแบ่งปันทุกสิ่งที่มีแก่กันและกัน พวกเขาช่วยเหลือคนยากจน แม่หม้าย และคนเจ็บคนป่วย ดังนั้น พระศาสนจักรคือ จุดเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้เป็นและผู้ตาย ซึ่งอาศัยพระบารมีของพระเยซูเจ้า ที่ทำให้ความสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกันนี้ ตกทอดมาถึงเรา แม้ความตายจะมาพรากเอาชีวิตไป


           เมื่อหวนระลึกถึงพระวาจาของพระเยซูเจ้า พระศาสนจักรเริ่มเข้าใจมากขึ้นว่า พระกายทิพย์ ที่พระองค์ตรัสนั้น หมายถึง ผู้ล่วงลับด้วย เพราะเหตุนี้เอง สายสัมพันธ์ที่ยึดกันเป็นหนึ่งเดียวนี้ไม่สามารถถูกทำลายด้วยความตาย ดังนั้น ความตายไม่ได้หมายถึง จุดจบของทุกสิ่ง  แต่เป็นเพียงแค่ทางผ่านไปสู่ชีวิตใหม่ ซึ่งหมายถึงร่างกายของเราด้วย เมื่อมีการพิพากษาครั้งสุดท้ายนั่นเอง


           ดังนั้น คริสตชนจึง ไม่นิยมพิธีเผาศพแบบของพวกต่างศาสนา แต่ส่งเสริมการฝังศพของผู้ที่เป็นที่รักมากกว่า ตามแบบฉบับของพระอาจารย์เจ้า ผู้ทรงถูกฝังและกลับคืนพระชนมชีพอีกครั้งหนึ่ง


           ขณะที่พวกต่างศาสนาพูดถึง “เนโครโปลิส” หรือ เมืองของผู้ล่วงลับ บรรดาคริสตชนถือว่า สุสานเป็นเพียงแค่ห้องนอน หรือจะเรียกให้ตรงไปตรงมาว่า สถานที่พักผ่อนชั่วคราวเพื่อรอเวลาของการกลับฟื้นคืนชีพ ด้วยความเชื่อในการกลับคืนชีพเช่นนี้ ทำให้พวกเขาใช้หลุมฝังศพเพียงแค่ครั้งเดียวเท่านั้น


            ตรงกันข้ามกับธรรมเนียมปฏิบัติของชาวโรมัน ที่พวกเขาโยนศพผู้ตายลงไปในบ่อใหญ่พร้อมๆ กัน รวมทั้งทารกและทาสที่ถูกทอดทิ้ง ซึ่งถือว่าไม่มีความหมายใดใด    

1.3 การระลึกถึงคริสตชนที่ล่วงลับไปแล้ว


            การให้ความช่วยเหลือเกื้อกูล และหน้าที่ที่มีต่อกันและกัน ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มคริสตชนสมัยแรก ไม่ได้จบลงที่ความตายเท่านั้น แต่รวมไปถึงผู้ที่เป็นที่รัก ที่สิ้นใจไปแล้วของพวกเขาด้วย อันที่จริง ถ้าครอบครัวของผู้ตายไม่สามารถจะฝังศพได้อย่างสมเกียรติแล้วละก็ หมู่คณะก็จะรับภาระหาอุโมงค์ฝังศพที่เหมาะสม  การให้ความเคารพต่อผู้ตาย เสมือนเป็นพี่เป็นน้องในความเชื่อ เป็นความคิดที่ใหม่จริงๆ ของชาวโรมันโบราณทีเดียว


การแสดงความอาลัยต่อบุคคลในครอบครัว หรือมิตรสหายด้วยการร่ำไห้  พร้อมๆ กับการแสดงความรู้คุณ ที่ได้ใช้เวลาร่วมกันนี้ ได้นำคริสตชนไปสู่ธรรมเนียมการเยี่ยมหลุมฝังศพเป็นนิจ ชาวต่างชาติก็มักไปเยี่ยมหลุมฝังศพเช่นกัน แต่สำหรับคริสตชนแล้วมีแรงบันดาลใจที่ลึกซึ้งกว่า นั่นคือ ความเชื่อในชีวิตหลังความตาย พวกเขาค่อนข้างมั่นใจว่า ในอนาคตจะได้อยู่ร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง เป็นหนึ่งเดียวกันอีก และครั้งนี้จะไม่มีวันพรากจากกันอีกเลย เนื่องจากว่าพวกคริสตชนรู้ว่า พวกเขาเป็นบุตรของพระบิดาองค์เดียวกัน เป็นพี่เป็นน้องในความเชื่อ พวกเขาคิดว่า ณ ที่นี่ ที่บรรดาผู้ที่เป็นที่รักได้นอนหลับใหลอยู่นี้ เราก็จะหลับพักผ่อนเพื่อรอการกลับเป็นขึ้นมา ซึ่งเป็นที่พักผ่อนร่วมกัน เป็นที่ฝังร่างของเราไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นใคร มีอาชีพอะไร มีชื่อเสียง ร่ำรวย หรือยากจนเพียงใด บรรดาคริสตชนต่างรู้ดีว่า สักวันหนึ่งพวกเขาทั้งหมด จะถูกรวมเข้าในรายชื่อของผู้ที่ต้องการคำภาวนา เพื่อการพักผ่อนและสันติสุขตลอดนิรันดร์

1.4 อุโมงค์ฝันศพ : สุสานของคริสตชนสมัยแรก


            ช่วงศตวรรษที่ 2 บรรดาคริสตชนที่อาศัยในกรุงโรม ไม่ได้มีสุสานเป็นของตนเอง แต่ละคนจะฝังศพของผู้ตายในที่ดินที่ตนครอบครอง ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะใช้สุสานร่วมกับชนต่างชาติ ด้วยเหตุนี้ นักบุญเปโตรจึงถูกฝังในป่าช้าที่ยอดเขาวาติกัน ส่วนนักบุญเปาโลถูกฝังในสุสานที่ถนนออสเตียนา


            ต่อมา คริสตชนเริ่มขยายตัวเพิ่มจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 3 ซึ่งมาจากครอบครัวที่ร่ำรวยหรือมีอันจะกิน พวกเหล่านี้มักจะมีสุสานเป็นของตนเองหรือของครอบครัว ซึ่งใช้ฝังศพของพี่น้องที่มีความเชื่อเดียวกัน เป็นที่ทราบกันดีว่า คริสต์ศาสนาจะต้องผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากมากๆ โดยเฉพาะจากจักรพรรดิชาวโรมัน


            โดยธรรมชาติที่บรรดาคริสตชนมีความเชื่อใน พระเจ้าเดียว พวกเขาปฏิเสธสถานะของจักรพรรดิว่าเป็น “ดอมินุส เอต เดอุส” คือ เป็นพระเจ้าและเป็นเจ้าของ สิ่งนี้ทำให้คริสตชนไม่เป็นที่พึงพอใจและเป็นเสี้ยนหนามแก่เจ้าผู้ครองนครเป็นอย่างยิ่ง เสียงเล่าลือและการใส่ร้ายป้ายสีเป็นต้นกำเนิดของการต่อต้านที่รุนแรงนำไปสู่ การเบียดเบียนทำลายล้าง จนเกิดเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาอย่างเป็นระบบ ดังนั้น เมื่อบรรดาคริสตชนไปแสดงความเคารพ และภาวนาให้ผู้ล่วงลับที่หลุมฝังศพ ประชาชนก็จะแสดงท่าทางรังเกียจ แม้แต่ลบหลู่หลุมฝังศพของพวกเขาด้วยวิธีต่างๆ นานา


           เมื่อเป็นเช่นนี้  ความปรารถนาที่จะมีสถานที่ฝังศพเฉพาะของคริสตชนจึงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อพวกเขาจะสามารถแสดงความเคารพผู้ตายได้อย่างสบายใจ เมื่อจำนวนคริสตชนเพิ่มมากขึ้น ความต้องการอุโมงค์บรรจุศพใหม่ๆ ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย กฎหมายโรมันคุ้มครองสิทธิของเจ้าของ ที่ให้สามารถใช้พื้นที่บางส่วน เพื่อจุดประสงค์นี้โดยเฉพาะ


            จากประวัติศาสตร์ตอนนี้ ทำให้เกิด “อุโมงค์ฝังศพใต้ดิน” ขึ้น  หลายแห่งเกิดขึ้นมาพร้อมกับวิวัฒนาการอุโมงค์ของตระกูล ต่อมาขนาดเริ่มใหญ่ขึ้น บางทีอาจมาจากความคิดริเริ่มของพระศาสนจักรเอง และที่มีชื่อเสียงมากที่สุดได้แก่ อุโมงค์ฝังศพใต้ดินของนักบุญกัลลิสตุส ซึ่งพระศาสนจักรได้จัดตั้งระบบและการบริหารจัดการเองทั้งหมด...

 

 ขอบคุณข้อมูลและภาพ จาก Blog นิตรสารดอนบอสโก
http://www.oknation.net/blog/thaidbmag

 

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์