ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

อันตราย 5 ประการที่ครูคำสอนจะต้องเผชิญ
อันตราย 5 ประการที่ครูคำสอนจะต้องเผชิญ

          ตั้งแต่ ศตวรรษที่ 4 มาแล้วที่นักบุญออกัสตินได้ให้ข้อแนะนำครูคำสอนในเชิงจิตวิทยาที่ยังสามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ของการสอนคำสอนในยุคปัจจุบันได้อย่างดียิ่ง โดยที่ท่านได้แสดงถึงความห่วงใยบรรดาผู้สอนคำสอนที่ท่านเองรู้สึกว่าบรรดาผู้สอนต้องประสบกับ “อันตราย 5 ประการ” ด้วยกัน ดังนี้

 

          ประการแรก คือ ความรู้สึกว่างานที่ตนเองกระทำนั้น “ไม่บังเกิดผล” ซึ่งท่านได้ให้คำตอบสำหรับความรู้สึกเช่นนี้ในสามประเด็นด้วยกัน คือ (1) ท่านไม่ทำอะไรที่ไม่ดีอย่างที่ท่านคิด (2) “อดทน” ที่จะพูดกับตนเองว่าในวันนี้ว่า "สู้ต่อไป" เพื่อเห็นแก่ความรัก (3) ทำให้ดีที่สุดเท่าที่ท่านสามารถจะทำได้และให้พระเจ้าได้สอนศิษย์โดยผ่านตัวของท่าน

 

          ประการที่สอง คือ ความรู้สึก “เบื่อ” ที่จะทำอะไรซ้ำ ๆ ซาก ๆ อย่างที่ครูคำสอนหลายคนบ่นว่า “เหมือนเดิม...Same old” ท่านนักบุญออกัสตินได้แนะนำว่า ให้ครูคำสอนมองสิ่งต่าง ๆ ด้วยสายตาแห่งความรัก และคิดเสมอว่าครูคำสอนกำลังทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความตายสู่ชีวิต พวกเขาต้องการครูคำสอนเพราะเห็นว่างานที่พวกเขากำลังกระทำอยู่นั้นเป็นงานที่ประเสริฐและยิ่งใหญ่มาก

 

          ประการที่สาม คือ “ความเมินเฉย” ของผู้เรียน สังเกตดูจากผู้เรียนที่ไม่สนใจ หรือไม่มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการสอนของครู เรื่องเหล่านี้ทำให้ครูคำสอนเกิดความเบื่อหน่ายที่จะสอนได้เช่นกัน นักบุญออกัสตินให้คำแนะนำว่า เป็นเรื่องที่ลำบากมากที่จะสอนคำสอนให้กับบุคคลที่ไม่สนใจ ในฐานะผู้สอนเราจะต้องค้นหาสาเหตุว่าทำไมเขาจึงไม่สนใจเรียน ถ้าเขาไม่คุ้นเคยหรือรู้สึกโดดเดี่ยว ครูจะต้องเข้าหาเขาและสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเขา ให้เขาเกิดความมั่นใจ เป็นกันเอง ถ้าเขามีปัญหาเรื่องความเข้าใจ ให้ครูพูดให้ชัดเจน พูดด้วยถ้อยคำที่ง่ายแก่การเข้าใจ พูดหรือสอนด้วยคำพูดที่หลากหลาย ไม่รีบร้อนหรือเน้นความรู้ทางด้านสติปัญญา มากเกินไป ให้สอนช้า ๆ อย่ายืดยาว ถ้าคนนั้นเป็นคนที่เรียนยาก ให้ครูสอนเขาด้วยความเห็นอกเห็นใจ และเน้นความรู้ที่จำเป็นหรือเป็นหลัก ๆ ที่ควรรู้ สิ่งที่สำคัญคือครูต้องพูดถึงประสบการณ์ความเชื่อของตนเองที่มีต่อพระเจ้า  ครูคำสอนต้องสวดภาวนาให้กับผู้เรียน แต่ไม่ควรที่จะเน้นหรือตั้งความคาดหวังในเรื่องทางสติปัญญากับผู้เรียนนั้น ๆ

 

          ประการที่สี่ คือ “สติแตก” ซึ่งหมายความว่าครูไม่อยากจะทำหน้าที่ครูคำสอนอีกต่อไปแล้ว อาจจะเป็นเพราะมีความสนใจในงานอื่น ๆ มากกว่างานคำสอน หรือไม่อยากอยู่ที่นี้ หรือด้วยเหตุผลอื่น ๆ จึงทำให้ครูเกิดความเครียด นักบุญออกัสตินแนะนำว่าตราบใดที่เรายังอยู่ที่นี้ในหน้าที่นี้ ขอให้เราพยายามกระทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด แม้ปัจจัยด้านลบต่าง ๆ จะเข้ามารบกวนจิตใจของเรา เราเองไม่สามารถห้ามมันได้ ขอให้พิจารณาตนเอง สวดภาวนาขอความสว่างจากพระเจ้า เพราะสิ่งเหล่านี้อาจจะมาจากการผจญของปีศาจที่ต้องการทดลองจิตใจของเราก็ได้

 

          ประการที่ห้า คือ  “หงุดหงิดหัวใจ” อันเนื่องมาจากการเป็นที่สะดุดของครูคำสอนซึ่งอาจจะมาจากความประพฤติของตนเองหรือของผู้อื่น นักบุญออกัสตินแนะนำว่า ให้มองข้ามเรื่องเหล่านี้ไปและกระทำหน้าที่ของเราต่อไป การทำงานด้วยความชื่นชมยินดีจะช่วยทำให้งานของครูคำสอนประสบผลสำเร็จ และเมื่อครูคำสอนทำงานด้วยความยินดี ข่าวสารหรือคำสอนก็จะถูกถ่ายทอดออกไปได้ง่ายขึ้นและผู้รับก็รับด้วยความยินดีเช่นกัน 

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์