ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

จดหมายเปิดผนึก...ถึงเพื่อน...ผู้ร่วมงาน
Love Letter 18 “แนวคิดและข้อเสนอ เพื่อการสอนคำสอนที่มีประสิทธิภาพสำหรับวัยเด็ก"
เพื่อนผู้ร่วมงานที่รัก
                      

           กิจกรรมต่อไปนี้จะขอนำเสนอ แนวความคิดและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์และการศึกษาของนักการศึกษาสองท่าน (John Roberto and Katie Pfiffner) ซึ่งเป็นการนำเสนอแนวปฏิบัติที่ถือว่าเป็นการปฏิบัติที่ดีที่สุด มีประสิทธิภาพมากที่สุด จนเรียกว่าเป็น “Best Practices” ของการสอนคำสอน ซึ่งมีอยู่ด้วยกัน 6 ประการดังนี้

 

Best Practice 1. เพื่อให้การหล่อหลอมความเชื่อให้กับเด็กๆของท่านมีประสิทธิภาพอย่างสูงสุด ท่านต้องเข้าใจหลักการเรียนรู้ของเด็กในยุคปัจจุบัน  และจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ที่ตรงกับประสบการณ์ตามวัยของพวกเขา ซึ่งท่านอาจจะใช้ภาพหรือวัสดุศึกษาต่างๆที่เด็กสามารถรับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัส เป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน น่าตื่นเต้น และด้วยรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย

 

# ตรวจสอบคู่มือการสอนคำสอนที่ท่านใช้อยู่ว่ามีคุณลักษณะที่ดีและมีประโยชน์เหมาะสมกับยุคปัจจุบันหรือไม่

 

# จัดกิจกรรมต่างๆให้สอดคล้องกับความสามารถที่แตกต่างกันของเด็ก (พหุปัญญา ของ Howard Gardner)
          - ความฉลาดทางด้านภาษา(Linguistic intelligence)ความสามารถในการเข้าใจ ความหมายและการใช้ภาษา การพูดและการเขียน การเรียนรู้ภาษา การใช้ภาษาสื่อสารให้ได้ผลตามเป้าหมาย สื่ออารมณ์ความรู้สึกให้คนอื่นเข้าใจได้ดี เช่น กวี นักเขียน นักพูด นักกฎหมาย
          - ความฉลาดทางด้านตรรกะ (Logical-mathematic intelligence) ความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ และเรื่องของเหตุผล คิดวิเคราะห์ในเชิงวิทยาศาสตร์ เช่น นักวิทยาศาสตร์ นักคณิตศาสตร์
          - ความฉลาดทางด้านดนตรี (Musical intelligence) ความสามารถในการเข้าใจและสร้างสรรค์ดนตรี เข้าใจจังหวะ เช่น นักแต่งเพลง นักดนตรี นักเต้น
          - ความฉลาดทางด้านมิติ (Spatial intelligence) ความสามารถในการสร้างภาพในจินตนาการ และนำมาสร้างสรรค์เป็นผลงาน เช่น จิตรกร ประติมากร สถาปนิก ดีไซเนอร์
          - ความฉลาดทางด้านการเคลื่อนไหวร่างกาย (Bodily-kinesthetic intelligence) ความสามารถในการใช้ร่างกายเคลื่อนไหวอย่างสร้างสรรค์ เช่น นักเต้น นักกีฬา นักแสดง
          - ความฉลาดในการเป็นผู้นำ (Interpersonal intelligence) ความสามารถในการ เข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น สามารถจูงใจผู้อื่น เช่น นักการเมือง ผู้นำทางศาสนา ครู นักการศึกษา นักขาย นักโฆษณา
          - ความฉลาดภายในตน (Intrapersonal intelligence) ความสามารถในการเข้าอกเข้าใจความรู้สึกภายในของผู้คน เช่น นักเขียน ผู้ให้คำปรึกษา จิตแพทย์
          - ความฉลาดทางด้านธรรมชาติ (Naturalist intelligence) ความสามารถในการเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ พืช สัตว์ ธรณีวิทยา สิ่งแวดล้อม
          - ความฉลาดในการคิดใคร่ครวญ (Existential intelligence) ชอบคิด สงสัยใคร่รู้ ตั้งคำถามกับตัวเองในเรื่องความเป็นไปของชีวิต ชีวิตหลังความตาย เรื่องเหนือจริง มิติลึกลับ เช่น นักคิดอย่าง อริสโตเติล ขงจื้อ ไอน์สไตน์ พลาโต โสเครติส ฯลฯ
          - ความฉลาดทางด้านคุณธรรมจริยธรรม (Moral intelligence)

 

#ให้เด็กได้เรียนรู้โดยผ่านทางผัสสะต่างๆ ชิม ดม สัมผัส ฟัง สิ่งของต่างๆที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ต้องการให้เด็กได้เรียนรู้หรือเรื่องที่เด็กอยากรู้

 
#ให้เด็กได้เรียนรู้โดยลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง โดยประยุกต์กิจกรรมให้เข้ากับประสบการณ์ในชีวิตจริงของพวกเขา


#ให้เด็กได้ทำงานร่วมมือกันเป็นกลุ่ม โดยการอภิปรายและการทำงานโครงการต่างๆ และให้มีการนำเสนอสิ่งที่ได้เรียนรู้มาให้เพื่อนๆได้รับรู้

 
#ให้เด็กได้เรียนรู้โดยผ่านทางภาพและธรรมชาติต่างๆที่สามารถสัมผัสได้


#กิจกรรมต่างๆเหล่านี้ช่วยให้ท่านมีแนวทางในการปรับปรุงหรืออกแบบการหล่อหลอมความเชื่อศรัทธาเด็กๆให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร

 


Best Practice 2. การหล่อหลอมความเชื่อศรัทธาให้กับเด็กๆนั้น ผู้ให้การฝึกอบรมจะต้องให้โอกาสเด็กๆได้มีประสบการณ์และจินตนาการในเรื่องของการใช้พระคัมภีร์และธรรมประเพณี โดยทำให้เด็กๆรู้สึกว่าตัวเขาเองเข้าไปโลดแล่นอยู่ในพระคัมภีร์และเหตุการณ์ในธรรมประเพณีนั้นๆ

 

#ตรวจสอบบทเรียนคำสอนและแหล่งข้อมูลสำหรับการสอนคำสอนเด็กว่าได้มีการเรียนการสอนที่ทำให้เด็กๆรู้สึกว่าตนเองเข้าไปอยู่เหตุการณ์ต่างๆในพระคัมภีร์(ธรรมประเพณี) ที่ครูได้สอนหรือไม่ และเด็กๆได้มีประสบการณ์ในการเรียนรู้ว่า “นี้คือเรื่องของฉันเอง และเป็นเรื่องของพวกเราเองที่เกี่ยวข้องกับตัวฉัน”

 

#บทเรียนและแหล่งข้อมูลในการสอนคำสอนเด็กช่วยทำให้เด็กๆได้ค้นพบหรือเรียนรู้ถึงความสำคัญของความเชื่อศรัทธาที่มีต่อชีวิตของพวกเขาหรือไม่

 

#บทเรียนและแหล่งข้อมูลในการสอนคำสอนเด็กช่วยบำรุงความเชื่อและทำให้เด็กๆได้เห็นถึงความสำคัญของความเชื่อศรัทธาได้อย่างไร

 

Best Practice 3. การหล่อหลอมความเชื่อศรัทธา ผู้ให้การอบรมจะต้องจัดบรรยากาศที่เอื้ออำนวยให้เด็กๆได้เข้าพบพระเจ้าผู้ทรงดำรงชีวิตอยู่ได้โดยตรง

 

#การอภิบาลและการสอนคำสอนเด็กๆในหมู่คณะของท่านได้มีความพยายามที่จะนำเด็กๆได้สัมผัสกับพระเจ้าอย่างใกล้ชิดหรือไม่ ท่านได้จัดประสบการณ์อะไรบ้างเพื่อให้เด็กๆได้สัมผัสพระเจ้าอย่างใกล้ชิด (เช่น การภาวนา มิสซาฯ วจนะพิธีกรรม การเข้าเงียบ...)

 

#ท่านได้ให้เด็กๆได้ฝึกฝนการสวดภาวนาในรูปแบบและวิธีการต่างๆอย่างไร
        - ความเงียบและการภาวนาในความเงียบ
        - การภาวนาแบบใจจดจ่อ (centering prayer)
        - การรำพึงภาวนา (meditative prayer)
        - การภาวนาด้วยบทประพันธ์ ศิลปะ หรือ เพลง
        - การรำพึงแบบชี้นำ (guided meditation)
        - การอ่านและรำพึงพระคัมภีร์
        - การภาวนาเพื่อสรรเสริญ ขอบพระคุณ วอนขอ ขอโทษ สารภาพบาป
        - ท่านและหมู่คณะของท่านได้มี “ความคิดริเริ่มใหม่ๆ” ในการหล่อหลอมเด็กๆให้ใกล้ชิดพระเจ้าหรือพบพระเจ้าอย่างใกล้ชิดอย่างไร

 

 

Best Practice 4. การหล่อหลอมความเชื่อศรัทธาที่มีประสิทธิภาพให้กับเด็กๆนั้น ผู้ให้การอบรมควรใช้เหตุการณ์สำคัญในชีวิตเป็นโอกาสบำรุงหล่อเลี้ยงความเชื่อทั้งของตัวเด็กเองรวมถึงครอบครัวของพวกเขาด้วย

 

#ท่านและหมู่คณะของท่านได้ใช้เหตุการณ์สำคัญๆในวงจรชีวิตของเด็กๆเป็นโอกาสเพื่อการบำรุงหล่อเลี้ยงความเชื่อทั้งตัวเด็กและครอบครัวของเขาหรือไม่ อย่างไร (ตัวอย่างเช่น วัดเกิด วันคล้ายวันเกิด วันรับศีลล้างบาป การรับศีลมหาสนิทครั้งแรก ฯลฯ)

 

#ท่านและหมู่คณะของท่านได้ 1) จัดเตรียมเด็กและครอบครัวเพื่อการฉลองวันสำคัญอย่างไร 2) ระลึกถึงและฉลองกันอย่างไร และ 3) มีการติดตามผลหลังจากการฉลองอย่างไร

 

#โบสถ์ของท่านได้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเหล่านี้อย่างไร และมีกิจกรรมอะไรที่ลงไปถึงบ้านของพวกเขาบ้าง

 

#หมู่คณะของท่านมีแนวคิดอะไรบ้างที่จะทำให้เหตุการณ์สำคัญในวงจรชีวิตของเด็กๆเป็นโอกาสหล่อหลอมความเชื่อของสมาชิกให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น

 

#ให้คิดหากิจกรรมเพื่อทำให้เหตุการณ์สำคัญในชีวิตเป็นโอกาสหล่อเลี้ยงความเชื่อให้กับสมาชิกสัก 1 หรือ 2 กิจกรรม

 

 

Best Practice 5. การหล่อหลอมความเชื่อศรัทธาที่มีประสิทธิภาพ ผู้ให้การอบรมจะต้องจัดกิจกรรมที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกคนในครอบครัวของเด็กๆ ให้เป็นกิจกรรมที่ทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกัน

 

#ท่านมีกิจกรรมที่ทำให้ทุกคนในครอบครัวได้เรียนรู้ร่วมกันหรือไม่ กิจกรรมนั้นจัดขึ้นในโอกาสอะไร ท่านใช้หัวข้อหรือประเด็นอะไร (topics or themes addressed)

 

#ท่านและหมู่คณะของท่านจะจัดโอกาสให้ครอบครัวได้เรียนรู้ร่วมกันได้อย่างไร
          - การจัดให้ทุกครอบครัวมาพบปะสังสรรค์เรียนรู้ร่วมกันประจำเดือนทั้งโบสถ์
          - การจัดโปรแกรมฝึกปฏิบัติที่เกี่ยวกับครอบครัวตลอดทั้งปี หรือจัดตามเทศกาล
          - การจัดให้ครอบครัวเฉพาะกลุ่มมารับการฝึกอบรม เช่น แบ่งกลุ่มตามอาชีพ ตามอายุ ตามเขต ฯลฯ
          - การจัดให้ครอบครัวได้ศึกษาพระคัมภีร์ร่วมกัน 
          - การจัดให้มีการแบ่งปันพระวาจาในครอบครัว ในรูปแบบต่างๆ เช่น Lectio divina
          - การจัดให้การเข้าเงียบหรือค่ายฯให้กับกลุ่มครอบครัว
          - การจัดการอบรมเพื่อการเตรียมตัวเพื่อการรับศีลศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ

 

 

Best Practice 6. การหล่อหลอมความเชื่อศรัทธาที่มีประสิทธิภาพนั้น ผู้ให้การอบรมจะต้องส่งเสริมให้เด็กๆเข้ามามีส่วนร่วมในศาสนบริการและกิจกรรมต่างๆที่โบสถ์จัดขึ้น


#โบสถ์ของท่านได้จัดให้เด็กๆได้มีส่วนร่วมในกิจการของโบสถ์และชุมชนอย่างไร ระบุถึงวิธีการที่ทำให้พวกเขามีความพร้อมในการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆด้วย


#ท่านและหมู่คณะของท่านตระหนักถึงและยอมรับเด็กๆในฐานะที่เป็นสมาชิกคนสำคัญของโบสถ์ที่มีบทบาทและความรับผิดชอบต่อโบสถ์อย่างไร


#ตรวจสอบบทเรียนคำสอนและแหล่งข้อมูลที่ใช้ในการสอนคำสอนว่าได้จัดให้เด็กๆได้มีส่วนร่วมกิจกรรมของวัดบ้างหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นการภาวนา การบริการ การเรียนรู้ ความสัมพันธ์ การเป็นผู้นำ ฯลฯ


#การเรียนคำสอนมีความเชื่อมโยงกับการให้เด็กๆได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมต่างๆของโบสถ์และชุมชนอย่างไร


#ทำอย่างไรที่จะให้การหล่อหลอมความเชื่อศรัทธาเป็นโอกาสให้เด็กๆได้มีส่วนร่วมในมากยิ่งขึ้น ท่านจะปรับปรุงการสอนคำสอนให้สอดคล้องกับเรื่องนี้อย่างไร


#ให้ท่านได้คิดหาวิธีสัก 1 หรือ 2 วิธี เพื่อให้สมาชิกเด็กๆในโบสถ์ของท่านได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมของโบสถ์ และท่านมีแผนในการเตรียมตัวพวกเขาอย่างไร

 

เนื้อหาและบทเรียน