ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

จดหมายเปิดผนึก...ถึงเพื่อน...ผู้ร่วมงาน
Love Letter 6

จงทำให้บทเรียนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของท่านเสียก่อน
       
เมื่อเราได้รับมอบหมายให้ทำการสอนคำสอน ใจของเราคงปรารถนาที่จะให้งานของเราประสบผลสำเร็จอย่างดี เราอาจจะเตรียมตัวโดยการอ่านบทเรียนจากหนังสือคำสอนก่อนล่วงหน้าสักรอบหรือสองรอบ แล้วหลับตาลงสรุปย่อเนื้อหาทั้งหมดเพื่อจะได้นำไปสอนเด็กๆของเราได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง เพียงเท่านี้....เพื่อนครูคิดว่าเพียงพอที่จะทำให้การสอนคำสอนของเพื่อนๆประสบผลสำเร็จได้หรือ....
      ช้าก่อน...ข่าวดีแห่งคำสอนของพระเยซูเจ้าจะไม่สามารถเข้าไปอยู่ในจิตใจของเด็กๆหรือเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเด็กๆได้ถ้าหากว่าข้อคำสอนนั้นยังไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของครูเอง เพื่อนครูจำเรื่องราวของเอเสเคียลได้ไหม ก่อนที่พระเจ้าจะทรงส่งเอเสเคียลออกไปทำงาน พระองค์ทรงมอบหนังสือม้วนหนึ่งให้เอเสเคียลแล้วตรัสว่า “บุตรแห่งมนุษย์เอ๋ย จงรับประทานสิ่งที่เจ้าได้พบ จงรับประทานหนังสือม้วนนี้ และจงไปพูดกับพงศ์พันธุ์อิสราเอล”(อสย 3:1) คำสั่งนี้หมายความว่าให้เอเสเคียลจงทำให้พระวาจาของพระเจ้าเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของตนเองก่อน แล้วจึงจะออกไปประกาศแก่ประชาชนชาวอิสราเอล เอเสเคียลตอบรับพระเจ้า “แล้วข้าพเจ้าก็ได้รับประทานและเมื่อหนังสือม้วนนั้นอยู่ในปากของข้าพเจ้าก็หวานเหมือนน้ำผึ้ง”(อสย 3:3)
คราวนี้เพื่อนครูจะ “รับประทาน” และ “ย่อย” บทเรียนของเราให้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเพื่อนครูได้อย่างไร เราจะทำให้บทเรียนที่เราจะสอนหวานปานน้ำผึ้งทั้งกับตัวของเราเองและกับลูกศิษย์ของเราได้อย่างไร ขอเริ่มเลย

หนึ่ง-จงสวดภาวนา
          สิ่งแรกและที่สำคัญมากที่สุด คือ “การสวดภาวนา” เริ่มเดชะพระนามเลย...แล้วสวดบทภาวนาเชิญเสด็จพระจิตเจ้า...วอนขอพระจิตเจ้าให้ช่วยเปิดหัวใจและสติปัญญาของเราเพื่อให้เราสามารถเข้าใจและให้บทเรียนได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเรา ให้บทเรียนที่ยากๆกลายเป็นบทเรียนที่หวานชื่นและเป็นประโยชน์ต่อชีวิตของครูเอง

สอง-ค้นหาประเด็นหลักของบทเรียนให้พบ
          เมื่อเราได้สวดภาวนาวอนของพระพรจากพระจิตเจ้าแล้ว เราก็พร้อมที่จะเดินหน้าต่อไป เพื่อนครูต้องอ่านคู่มือหรือบทเรียนล่วงหน้าก่อนหลายๆวัน อ่านแล้วไตร่ตรองดูว่าอะไรเป็นเนื้อหาสำคัญของบทเรียนนั้นๆ บทเรียนนั้นต้องการพูดถึงเรื่องอะไร อยากให้เด็กรู้เรื่องอะไร ศรัทธาในเรื่องอะไร หรือปฏิบัติในเรื่องอะไร เพื่อนครูต้องมองภาพรวมให้ออกเสียก่อน ที่เราชอบพูดกันว่า “Concept” ของบทเรียนนี้คืออะไร ซึ่งเราอาจจะดูได้จากจุดประสงค์ที่ผู้เขียนระบุไว้ในแต่ละบทเรียนก็ได้(ถ้ามี) แต่ถ้าไม่มีเราต้องอ่านบทเรียนให้จบ(อ่านให้ทะลุ) เช่น บทเรียนวันนี้ต้องการพูดถึงพระศาสนาจักรเป็นดั่งร่างกาย หรือเป็นครอบครัว หรือเป็นชุมชน อีกบทเรียนหนึ่งอาจจะพูดถึงพิธีมิสซาฯเป็นดั่งการทานเลี้ยง หรือการแบ่งปันพระพร หรือการเฉลิมฉลองของชุมชน อีกบทเรียนหนึ่งอาจจะพูดถึงพระเยซูเจ้าทรงเป็นแสงสว่าง เป็นเพื่อน เป็นพระผู้ไถ่ หรือเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ เมื่อเราจับจุดได้แล้ว เราต้องนำเอาประเด็นหลักนั้นมาไตร่ตรอง โดยพยายามทำความเข้าใจและหาเรื่องต่างๆที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นมาไว้ในคลังของเรา เช่น ถ้าเราสอนเรื่องการให้อภัย เราจะต้องให้คำว่า “ให้อภัย” อยู่ในหัวใจและหัวสมองของเรา เจออะไรไม่ว่าที่เกี่ยวข้องให้รีบเก็บไว้ ไม่ว่าจะเป็นข่าวที่เกี่ยวกับการยกโทษที่พบจากหนังสือพิมพ์หรือข่าวทางโทรทัศน์ ภาพการให้อภัยจากนิตยสาร แผ่นผับ โปสเตอร์ โปสการ์ด ภาพจากคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ภาพโฆษณาทางทีวี ทางวิทยุ เป็นต้นจากรายการที่เด็กๆสนใจและดูกัน บางครั้งจาก Forward mail ที่เด็กสมัยใหม่มักจะใช้กัน เมื่อได้วัตถุดิบแล้ว ทีนี้แหละ เพื่อนครูลองนำเอาของดีๆที่พบมาบอกเล่าให้หรือแบ่งปันให้กับคนในครอบครัวของครูเองหรือกับเพื่อนสนิทมิตรสหายเสียก่อน ถือว่าเป็นการซ้อมมือซ้อมปากก่อนลงมือสอน จากนั้นให้เพื่อนครูพิจารณาถึงสภาพแวดล้อมของเด็กๆในเรื่องของการให้อภัย ให้ดูซิว่าเด็กๆมีความต้องการการให้อภัยในเรื่องอะไร พวกเขาจะโกรธเคืองกันในกรณีใดบ้าง เด็กอายุเท่านี้จะมีเรื่องกันในกรณีใดบ้าง ผลของการโกรธเคืองเป็นอย่างไร อะไรที่พวกเขายกโทษให้กันได้ง่าย เรื่องอะไรที่ยกโทษให้กันยาก เราต้อง Think & Feel เรื่องการให้อภัย ที่เราต้องให้ความสำคัญกับ Feel หรือ “ความรู้สึก” ก็เพราะว่าการให้อภัยเป็นเรื่องของอารมณ์และความรู้สึก เราจึงต้องเข้าไปนั่งในใจของคนที่โกรธกันด้วย เราจึงจะสอนให้เขาให้อภัยกันได้

สาม-แยกข้อมูลที่ได้รับออกเป็นหมวดหมู่
          สิ่งที่เป็นประโยชน์สำหรับการเป็นครูมืออาชีพ คือ การนำข้อมูลต่างๆที่ได้รับมาแยกออกเป็นเรื่องๆ ถ้าเรามีกล่องกระดาษ หรือแฟ้มที่แยกออกเป็นหมวดหมู่ได้จะเป็นประโยชน์มาก ในแต่ละกล่องหรือช่อง เราอาจจะนำข้อมูลซึ่งอาจจะเป็นภาพหรือเพลง บทกวี บทความ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องมาใส่ไว้ในที่ๆเดียวกัน เช่น เรื่อง สิ่งสร้างของพระเจ้า ชีวิตใหม่ อิสรภาพ คุณค่าของชีวิต เพื่อน การภาวนา ครอบครัว การรับผิดชอบ ความเสียสละ ความอดทน ความรัก ความกล้าหาญ ฯลฯ เมื่อเราได้อะไรมาและคิดว่าสามารถนำมาสอนเรื่องอะไรได้บ้าง เราก็นำมาใส่กล่องนั้นๆไว้ แล้วเขียนเป็นบัญชีไว้ ขอยกตัวอย่างในการสอนเรื่องพระเยซูเจ้าทรงเป็นเพื่อนแท้ของเรา เราอาจจะรวบรวมอุปกรณ์การสอน เช่น

        • ภาพจากหนังสือพิมพ์ที่แสดงถึงกลุ่มเด็กชายหญิง อาจจะเป็นเพื่อนๆที่มีความแตกต่างกัน หรือมาจากชาติต่างๆกันแต่เป็นเพื่อนกันได้
        • บทความของการเป็นเพื่อนแท้แก่กันและกัน หรืออาจจะเป็นภาพยนตร์เรื่องที่เกี่ยวกับการเป็นเพื่อนแท้
        • บัตรอวยพรหรือโปสการ์ดที่เกี่ยวกับความเป็นเพื่อน
        • บทเพลงที่เกี่ยวกับเพื่อน หรือบทกวี หรือเรื่องเล่า
        • พระคัมภีร์ที่เกี่ยวกับการเป็นเพื่อน เช่น โยบ 6:14; สุภาษิต 17:17; 18:24; ยอห์น 15:15
โดยทางปฏิบัติแล้วบางหัวข้ออาจจะหาสื่ออุปกรณ์ยากสักหน่อย แต่อย่างไรก็ตามถ้าเราสะสมไว้ล่วงหน้า เจออะไรก็พยายามเก็บไว้ เราก็จะมีคลังข้อมูลไว้ใช้ในการสอนอย่างเหลือเฟือ

สี่-วางแผนในการสอน
          เมื่อเรามีประเด็นหลักในการสอน มีสื่ออุปกรณ์ที่เพียงพอหรือพอสมควรแล้ว ขอให้เพื่อนครูอ่านบทเรียนนั้นอีกครั้งหนึ่ง แล้ววางแผนในการสอนว่าจะเอาสื่ออุปกรณ์อะไรมาใช้ในตอนไหนของการสอน โดยทั่วไปในหนังสือคำสอนมักจะมีการนำเสนอ แบบสามขั้นตอนหรือห้าขั้นตอน แต่อย่างไรก็ตาม ทุกตำรามักจะหนีไม่พ้นจาก 3 ขั้นตอนนี้ คือ หนึ่งการนำเข้าสู่บทเรียน สองการนำเสนอคำสอน และสามการประยุกต์ใช้ในชีวิต
การนำเข้าสู่บทเรียน

          โดยปรกติแล้ว ขั้นตอนการนำเข้าสู่บทเรียนนี้เป็นการสร้างความคุ้นเคยให้กับผู้เรียนในหัวข้อที่เรากำลังจะสอน เพื่อนครูจะต้องนึกถึงสภาพแวดล้อมที่ใกล้ตัวผู้เรียน หรือที่ผู้เรียนคุ้นเคยให้มากที่สุด การนำเข้าสู่บทเรียนเป็นเสมือนเป็นการสร้างสะพานให้ผู้เรียนเดินข้ามมาสู่เนื้อหาที่เราต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ได้ง่ายขึ้น ไม่ใช่อยู่ดีๆก็จู่โจมเข้าเรื่องแบบไม่ทันได้รู้เนื้อรู้ตัว เพื่อนครูอาจจะเริ่มด้วยการตั้งคำถามที่เกี่ยวข้อง อาจจะเล่าเรื่อง เล่นเกม นำเสนอภาพ ร้องเพลง ฯลฯ โดยมีจุดประสงค์เพื่อจูงจิตใจของผู้เรียนให้เข้าสู่บทเรียนได้ง่ายขึ้น เป็นการกระตุ้นถึงประสบการณ์ หรือดึงเอาประสบการณ์ที่พวกเขามีมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ ในขั้นตอนนี้ไม่ควรใช้เวลายาวเกินไป ควรสั้น กระชับ เมื่อได้จังหวะแล้วให้นำเข้าสู่บทเรียนได้เลย

การนำเสนอคำสอน
         ในขั้นตอนนี้ เพื่อนครูสามารถเริ่มต่อเนื่องจากขั้นตอนการนำเข้าสู่บทเรียนได้เลย ครูอาจจะนำเสนอเนื้อหาที่มาจากข้อความในพระคัมภีร์ หลักคำสอน(CCC) พิธีกรรม และชีวิตบุคคลศักดิ์สิทธิ์

         ถ้าครูใช้เรื่องราวในพระคัมภีร์ ครูควรอ่านพระคัมภีร์มาก่อนและอยู่เงียบๆกับพระคัมภีร์ที่ครูจะใช้นั้นเพื่อเป็นการภาวนาฟังเสียงของพระเจ้าก่อน ในการใช้พระคัมภีร์ตอนหนึ่งตอนใดนั้นครูควรดูว่าก่อนและหลังข้อความในพระคัมภีร์นั้นมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง เพื่อจะได้เห็นการเชื่อมโยงหรือรู้ที่ไปที่มาของพระคัมภีร์ในตอนนั้น

         จากนั้นให้ครูเขียนชื่อบุคคล สถานที่ หรือถ้อยคำสำคัญๆที่เป็น Key ของเรื่องนั้นไว้บนกระดาน เพื่อเป็นการเน้นหรือให้ผู้เรียนได้ให้ความสนใจ พยายามดึงเอาคำสอนหรือประเด็นสำคัญจากพระคัมภีร์มาเน้นย้ำให้ผู้เรียน โดยที่ครูอาจจะยกตัวอย่างประกอบ หรือใช้สื่ออุปกรณ์ที่เตรียมไว้มาใช้ให้เหมาะสม

         ในการดึงเอาข้อปฏิบัติที่ได้จากพระคัมภีร์มาให้ผู้เรียนนั้น ครูจะต้องยกตัวอย่างหรือพูดถึงสิ่งที่ให้ปฏิบัติให้เป็น “รูปธรรม” อย่าให้ลอยๆ เช่น “วันนี้บทสอนจากเรื่องในพระคัมภีร์ ครูขอให้เราแต่ละคนจงรักเพื่อนบ้านของเรา” นี้ลอยลมและเผด็จการมากไปหน่อย แต่ครูควรแนะนำผู้เรียนว่า “วันนี้พระคัมภีร์สอนเรื่องจงรักเพื่อนบ้าน พวกเราคิดว่าเราจะนำเอาคำสอนนี้ไปปฏิบัติในชีวิตจริงของเราได้อย่างไร” หรือคำตอบของเด็กๆที่เป็นรูปธรรม เช่น “ผมจะชวนเพื่อนที่ไม่มีใครคุยด้วยไปกินขนมครับ” “ผมจะเล่นบอลกับเพื่อนๆครับ”

          สิ่งที่สำคัญคือผู้เรียนต้องการฟังแบบอย่างจากชีวิตของครูเอง อย่าลืมว่าชีวิตของครูเองเป็นสื่อการสอนที่ดีที่สุด เมื่อเราสอนเรื่องพระเยซูเจ้าทรงรักษาคนโรคเรื้อนให้หาย แต่มีเพียงคนเดียวมาขอบคุณพระองค์ เราเน้นในเรื่องของการขอบพระคุณพระเจ้า โดยยกตัวอย่างของการมาวัดในวันอาทิตย์ ถ้าครูยืนยันด้วยชีวิตของครูเองว่าครูไม่เคยขาดการไปวัดในวันอาทิตย์เลย ผู้เรียนของครูจะโอเคกับบทเรียนในวันนั้นอย่างไม่มีวันลืมเลย

การประยุกต์ใช้ในชีวิต
          คำสอนที่ดีต้องสามารถนำไปใช้ในชีวิตของผู้เรียนได้ ไม่มีประโยชน์ที่จะให้คำสอนที่สวยหรูแต่ไม่มีการนำไปปฏิบัติจริงในชีวิต ก่อนที่จะจบบทเรียนสัก 5 นาที ครูควรจะให้ผู้เรียนได้สรุปด้วยตนเองว่า “เราได้เรียนรู้อะไรจากชั่วโมงที่ผ่านไปนี้” ครูควรส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พูดด้วยถ้อยคำของพวกเขาเอง อาจจะให้พูดกับเพื่อนในกลุ่มย่อย หรือพูดกับเพื่อนข้างๆ หรือพูดต่อหน้าเพื่อนทั้งหมด ส่วนครูอาจจะจบโดยให้ผู้เรียนได้หาข้อปฏิบัติหรือประยุกต์คำสอนที่ได้รับไปใช้ในชีวิตประจำวัน โดยให้หาข้อตั้งใจและจดไว้ และในการเรียนครั้งหน้าให้ครูตรวจสอบว่าได้กระทำตามที่ตั้งใจไว้หรือไม่

           ขอสรุปส่งท้ายว่า ตัวครูคือคู่มือการสอนที่ดีที่สุด คู่มือคำสอน(GDC 156) สอนว่า “ไม่มีวิธีการสอนใดๆแม้ว่าจะได้รับการทดสอบแล้วว่าดีเพียงใดก็ตาม จะสามารถทำงานได้โดยไม่ต้องพึ่งตัวครูคำสอนในทุกๆขั้นตอนของกระบวนการสอนคำสอน พระพรที่พระจิตเจ้าทรงมอบให้กับครูคำสอน คือ ชีวิตจิตที่แข็งแกร่งและการเป็นประจักษ์พยานชีวิตที่เห็นได้ชัด ประกอบขึ้นเป็นคุณลักษณะพิเศษของทุกๆวิธีการ และมีเพียงคุณภาพของความเป็นมนุษย์และคริสตชนของตัวครูคำสอนเองเท่านั้นที่จะประกันถึงความสามารถในการใช้เอกสารต่างๆและอุปกรณ์อื่นๆที่ใช้สอนคำสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ขอให้สนุกกับการสอนคำสอน
คุณพ่อวัชศิลป์ กฤษเจริญ
วันที่ 10 ตุลาคม 2010
บ้านพักอารามพระหฤทัยฯ กทม.

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์