จดหมายเปิดผนึก...ถึงเพื่อน...ผู้ร่วมงาน
Love Letter 4

สอนให้มีชีวิตชีวา(หน่อยครับ)
        เพื่อนครูผู้ร่วมงานคำสอนครับ ในครั้งที่แล้วพ่อพูดถึง “การจัดบรรยากาศ” ให้ดีเพื่อการสอนที่มีประสิทธิภาพ ในครั้งนี้พ่อขอพูด “ตัวครู” หรือ “ท่าทีของครู” ในขณะทำการสอนบ้าง อุปกรณ์ที่ดีที่สุดในการสอนคำสอนก็คือตัวครูนั้นเอง...เห็นด้วยไหมครับ

          ครูจะเห็นได้ว่าเด็ก ๆ ปัจจุบันชอบอะไรที่รวดเร็วตื่นเต้นเร้าใจ เช่น เด็กสามารถอยู่หน้าจอทีวีหรือคอมพิวเตอร์ได้นานๆด้วยจิตใจจดจ่อ เราดูการ์ตูนซิเขานำเสนอด้วยวิธีการที่สนุกตื่นเต้นน่าติดตาม รวดเร็วฉับไว สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นแรงจูงใจให้เราต้องมาทบทวนเพื่อพัฒนางานคำสอนของเรา

          ถ้าครูเข้าสอนด้วยหน้าตาและท่าทางที่น่าเบื่อหน่ายแบบมาแต่ “ร่างกายที่ไร้จิตวิญญาณ” ข่าวดีของพระเจ้าที่เราจะบอกกับเด็กๆว่า นี้เป็นของดี ของแท้ เป็นคำสอนที่นำความสุขแท้มาให้เรา มันจะไปรอดหรือ ตรงกันข้าม ข่าวดีที่ถูกบอกเล่าหรือถ่ายทอดด้วยท่าทีที่เต็มไปด้วยความสุข หน้าตาของครูยิ้มแย้มแจ่มใส เข้าหาผู้เรียนด้วยความเต็มใจ กระตือรือร้นที่จะบอกหรือเล่าเรื่องดีๆให้พวกเขาฟัง นี้ซิ..ของแท้

         มีสัตบุรุษท่านหนึ่งออกมาจากห้องประชุมที่เชิญวิทยากรต่างประเทศมาพูดเรื่องความศรัทธาต่อพระแม่มารีอา พ่อถามเขาว่า “เป็นอย่างไร ดีไหม” เขาตอบว่า “ดีมากครับ” พ่อเลยถามต่อว่า “แล้วฟังรู้เรื่องหรือ” เขาตอบว่า “ฟังภาษาไม่รู้เท่าไร แต่เห็นเขาพูดด้วยความร้อนร้น  ผมจึงประทับใจและเชื่อมั่นว่าเรื่องที่เขาพูดนั้นเป็นความจริง”

         ครูคำสอนคงจะนำเนื้อหาคำสอนได้ไม่หมดหรอก ไม่ว่าเนื้อหาคำสอนจากตำราหรือคู่มือจะดีเพียงใด การสอนที่มีประสิทธิภาพของครูจะต้องมาจาก “การภาวนา” และ “การคิดไตร่ตรอง” ก่อนเสมอ จากนั้นครูจึงสามารถสอนหรือบอกเล่าได้อย่างมีชีวิตชีวา ดังนั้น “ครูคำสอนจะต้องสวดภาวนาและทบทวนไตร่ตรองบทเรียนก่อนการสอนเสมอ”

คราวนี้เรามารายละเอียดเล็กๆน้อยๆแต่มีความสำคัญในการสอนคำสอน
        “เสียงดังฟังชัด” ครูต้องคาดคะเนดูว่าจำนวนนักเรียนกับขนาดของห้องเรียน ครูต้องถามตนเองว่า เมื่อครูพูดนักเรียนทุกคนได้ยินอย่างชัดเจนหรือไม่ เช่นเดียวกัน เมื่อนักเรียนถามหรือพูดแสดงความคิดเห็นครูสามารถได้ยินคำพูดของนักเรียนหรือไม่ ครูต้องตรวจสอบอยู่เสมอเรื่องเสียงอยู่เสมอ “นักเรียนได้ยินชัดไหม” บางครั้งต้องให้นักเรียนพูดเสียงดังขึ้น เพื่อให้ครูเองและเพื่อนๆในชั้นได้ยิน บางครั้งครูต้องถามคำถามซ้ำๆสำหรับนักเรียนที่ไม่เข้าใจหรือไม่ได้ยิน

        “พูดให้เข้าจังหวะ” การพูดอย่างรวดเร็วหรือพูดอย่างช้าๆก็มีความสำคัญ บางครั้งสำหรับเรื่องที่ไม่สำคัญครูอาจจะพูดเร็วๆหรือพูดผ่านไปโดยไม่ต้องเน้นอะไรมากนัก แต่สำหรับบางเรื่องบางประเด็น ครูควรไปอย่างช้าๆเน้นๆ ตรวจความเข้าใจของนักเรียน (เหมือนนักมวยเวลาชกกัน บางครั้งก็ชกไปเรื่อยๆแต่บางครั้งก็ชกแบบเน้นๆเนื้อๆ) นอกจากนั้นครูต้องสังเกตดูความสนใจของนักเรียนด้วย ถ้าพวกเขายังมีสมาธิตั้งใจเรียนอยู่ครูควรใส่อย่างเน้น ๆ แต่ถ้าสมาธิไปไหนไม่รู้แล้ว ครูต้องพยายามดึงสมาธิของพวกเขากลับมาแล้วพูดซ้ำหรือพูดใหม่

        “กระฉับกระเฉง” พ่อเคยเรียนกับครูที่เก่ง เขียนตำรามากมาย แต่เวลาสอนมักจะนั่งอ่านคู่มือให้ผู้เรียนฟัง ตอนแรกๆมีนักศึกษาเต็มห้อง แต่พออาจารย์เงยหน้าขึ้นมามองผู้เรียนปรากกว่าผู้เรียนหายไปทีละคนสองคน สอนอย่างนี้เป็นการสอนวิชาความรู้แต่ไม่ได้สอนคน ครูควรเดินเข้าหานักเรียน สายตาสัมผัสกับนักเรียน ทักทายสอบถามพูดคุยกับนักเรียนเป็นระยะ ๆ

       “ประเมินการสอนเป็นระยะ” ครูต้องประเมินตนเองว่าพูดไปแล้ว หรือให้เด็กทำกิจกรรมแล้ว พวกเขาตอบสนองการสอนของครูอย่างไร ไม่ใช่แค่เห็นพวกเขาไม่หลับ หรือยิ้มตอบเราเท่านั้น แต่ครูต้องคอยให้กำลังใจเพื่อให้พวกเขาได้มีส่วนในการเรียนการสอนของครูด้วย ไม่ใช่ให้พวกเขาฟังอย่างเดียว ครูควรเขียนข้อคิดเห็นหรือคำให้กำลังใจลงในสมุดการบ้านของนักเรียนด้วย

        “ให้ความสนใจเด็ก ๆ เป็นรายบุคคล” แม้ว่าเราจะสอนโดยใช้กระบวนการกลุ่มก็ตาม ครูควรเข้าหาเด็กเป็นรายบุคคล เด็กบางคนอาจจะไม่กล้าเข้าหาครู และบางครั้งครูก็ไม่สามารถรู้ถึงความต้องการและความสามารถของเด็กๆในความดูแลของครูได้ ดังนั้นครูควรใช้เวลาเพื่อพูดคุยหรือติดตามการเรียนของเขา โดยที่ครูอาจจะใช้เวลาพักเพื่อพูดคุยกับเขาเป็นการส่วนตัว  การให้เด็กมีป้ายชื่อติดไว้เป็นเรื่องที่สำคัญ อย่างน้อยในระยะแรกๆที่ยังจำกันไม่ได้ การเรียกชื่อเป็นการแสดงความสนใจที่ครูมีต่อเด็ก ๆ ของครู นอกจากครูจะจำเด็ก ๆ ได้ ครูควรให้เด็ก ๆ จดจำชื่อของกันและกันให้ได้ด้วย

        “รับฟังอย่างตั้งใจ” ท่าทีอีกประการหนึ่งที่สำคัญคือการรับฟังคำถามหรือความคิดเห็นของผู้เรียน(บางครั้งเป็นเสียงบ่นด้วย) แม้ว่าในบางครั้งคำถามของเขาอาจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ครูกำลังสอนอยู่ ครูอย่าเพิ่มตำหนิเขาเพราะบางครั้งคำพูดของครูอาจจะทำให้เขาเกิดจินตนาการไปถึงเรื่องอื่นๆ ถ้าเขาพูดอะไรออกมาแสดงว่าเขามีความสนใจต่อเรื่องนั้น ครูจึงต้องให้ความสำคัญกับปฏิกิริยาของเขา เพราะเรากำลังสอนเขาไม่ใช่สอนตัวเราหรือสอนตามตำราเท่านั้น

         ถ้าหากเราไม่สามารถตอบคำถามของเด็กได้ในทันทีทันใด ครูควรบอกกับเด็กๆโดยตรงว่าคำถามของเขาเป็นคำถามที่น่าสนใจที่ครูเองไม่เคยนึกมาก่อน ครูจะไปค้นคว้าแล้วจะมาตอบให้ในครั้งต่อไป

         พูดไปตั้งหลายข้อไม่รู้ว่าเพื่อนครูจะจำไหวไหม แต่ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เพื่อน ๆ ได้ปฏิบัติกันมาแล้วทั้งนั้น อ่านจบถึงตรงนี้ก็ขอให้ถือว่าเป็นการทบทวนหรือย้ำเตือนก็แล้วกัน

ด้วยความปรารถนา
คุณพ่อวัชศิลป์ กฤษเจริญ
วิทยาลัยแสงธรรม
วันที่ 2 สิงหาคม 2010