บทเรียนที่       2 เดือนกุมภาพันธ์ 1995
หัวข้อเรื่อง      ฉลองปัสกา
จุดมุ่งหมาย   
ให้ผู้เรียนฉลองปัสกาโดยการเปลี่ยนชีวิต เพราะถ้าไม่มีการเปลี่ยนชีวิตก็ไม่มีปัสกา

ขั้นที่ 1 กิจกรรม

 ครูเล่า (หรืออ่าน) เรื่องต่อไปนี้ให้นักเรียนฟัง

จากใจแม่คนหนึ่ง

 ดิฉันมีลูกวัย 8 ขวบอยู่คนหนึ่ง ชอบทำเรื่องให้กลุ้มรำคาญใจแทบทุกวัน โดยเฉพาะเมื่อกลับจากโรงเรียนอย่างเช่น โครม.....แม๊ว ๆๆๆ .....เจ้าตัวแสบโยนกระเป๋านักเรียนใส่แมว “แย่มากนะหนู.....ใจร้ายจริงๆ .....แมวมันทำอะไรให้หนูรึ? เก็บกระเป๋าไปไว้ที่เสีย” เจ้าหนูยกกระเป๋าขึ้น แต่แทนที่จะเอาไปเก็บ กลับทุ่มลงบนโซฟายังดีที่ไม่ทุ่มใส่โต๊ะที่เป็นกระจก “แม่บอกให้ยกกระเป๋าไปเก็บที่ ได้ยินไหม?” เจ้าหนูคว้ากระเป๋าได้ก็ลากลงจากโซฟา แล้วลากครูดไปบนพื้น “แม่บอกให้ยกไปเก็บที่ ไม่ใช่ลากอย่างนี้อยากโดนตีหรือ?” ฯลฯ

 นอกจากแมวแล้วเจ้าหนูยังชอบรังแกน้องคนเล็กสองคนของแกเสมอ ยามอยู่หน้าบ้านวัดหยุดดิฉันต้องปากเปียกปากแฉะห้ามไม่ให้แหย่น้อง ห้ามไม่ให้เล่นสิ่งที่ไม่ควรเล่น เช่น เอาแจกันแพงๆ มาวางบนหัว รื้อค้นสิ่งที่ดิฉันเก็บไว้อย่างดี ทำรกทั้งบ้าน เป็นเด็กที่ดื้อ รั้น ซน จนดิฉันไม่รู้จะทำอย่างไรกับแกดี จะทำครัว ซักผ้า หรืองานบ้านอื่นๆ ต้องพะวงทุกขณะจิต กลัวแกจะทำอะไรแผลงๆ เสียข้าวเสียของ และตัวแกเองจะได้รับอันตราย ดิฉันเคยลงโทษแต่แกก็ดีได้ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว เนื่องจากดิฉันไม่นิยมการลงโทษนัก เมื่อใช้แล้วไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดิฉันไม่ชอบใช้การลงโทษเพื่อแก้ปัญหา มันต้องมีวิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลถาวรสักวิธีหนึ่ง

 จนกระทั่งวันหนึ่งเจ้าหนูกลับจากโรงเรียนก็อาละวาดอย่างสุดฤทธิ์ ดิฉันกำลังพับผ้ารู้สึกฉุนขึ้นมาทันที แต่มีเสียงดลใจว่า “แทนที่จะเปลี่ยนใจเขาให้ตามใจเรา ทำไมเราไม่เปลี่ยนใจเราเองล่ะ? ดิฉันต้องเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยแสดงกับแกเมื่อเจ้าหนูประพฤติผิดเสียแล้ว คราวนี้ดิฉันเงียบ ไม่ปริปากห้ามปรามแม้แต่นิด หยุด.....ยุติงานที่กำลังทำอยู่มาช่วยเจ้าหนูถือกระเป๋า หาขนมมาให้รับทาน ถามเจ้าหนูว่าวันนี้มีการบ้านมากไหม? เจ้าหนูหยิบสมุดจดการบ้านให้ดู การบ้านไม่มากแต่ต้องอ่านออกเสียง 20 นาที ดิฉันถามเขาว่า “อ่านได้ไหม?” เขาตอบ “ได้ครับ” ดิฉันพูดต่อว่า “งั้นเริ่มเลย”

 เจ้าหนูเริ่มอ่านลวกๆ อ่านเร็วบ้าง ช้าบ้าง คล้ายกับจะยั่วโทสะ เพื่อยุให้ดิฉันตำหนิเขาเหมือนอย่างที่เคยทำ แต่ดิฉันกลับสงบ ไม่แสดงกิริยาใดๆ เมื่อไม่ได้ผลเจ้าหนูหยุดอ่านไปเฉยๆ วางหนังสือเริ่มตีลังกาบ้าง นอนแผ่หราบ้าง ดิฉันก็เฉยอีก คงเป็นเพราะพระหรรษทานของพระจิตที่ทำให้ดิฉันทำอย่างนั้นได้ ความอดทนของดิฉันคงชนะใจเจ้าหนูได้ เจ้าหนูออกฤทธิ์จนเหนื่อยในที่สุดมานั่งข้างดิฉัน เริ่มอ่านใหม่ให้ดิฉันฟัง อ่านได้ดีเยี่ยม ดิฉันโล่งใจ นับแต่นั้นมาเจ้าหนูก็ดีขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ ไม่เป็นตัวปัญหาสำหรับดิฉันอีกเลย เป็นการยืนยันชัดเจนว่า ถ้าเราทำกิจการทุกอย่างด้วยความรักแท้จริงแล้ว ทุกอย่างจะราบรื่นและนำความสุขมาให้อย่างแน่นอน (คัดมาจาก “สัปดาห์สาร วัดนักบุญยอแซฟ บ้านโป่ง ฉบับวันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม 1995)

ขั้นที่ 2 วิเคราะห์

 ถามความรู้สึกของนักเรียนเมื่อได้ฟังเรื่องราวนี้แล้ว
- รู้สึกอย่างไรต่อแม่? (สงสาร เห็นใจ ประทับใจ ดีใจ สุขใจ ฯลฯ) ทำไม?
- รู้สึกอย่างไรต่อลูก? (เสียใจ ไม่ชอบ โกรธ เกลียด ดีใจที่ได้เปลี่ยนชีวิต ฯลฯ) ทำไม?

สรุป ปัญหาทั้งหมดได้คลี่คลายไปเพราะทั้งสองฝ่ายได้เปลี่ยนชีวิต

ขั้นที่ 3 คำสอน

1. เราเองในฐานะที่เป็นลูกก็ต้องรับสารภาพว่าหลายครั้งเราก็ประพฤติเช่นนั้นต่อพ่อแม่ของเรา เราไม่ชอบลูกเรื่องนี้ เราอยากให้ลูกประพฤติตนดีกว่านี้ เราก็ต้องแก้ไขที่ตัวเราเองโดยเปลี่ยนนิสัย เปลี่ยนการกระทำของเราเสียใหม่ ฉลองปัสกา คือฉลองการกลับคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์จากความตาย เป็นการเปลี่ยนชีวิตอย่างถึงรากถึงโคน คือจากความตายที่แสนจะทรมานไปสู่ความสุขในชีวิตใหม่ที่สุกใสถาวรไม่รู้จักตายอีกเลย ปัสกาจึงเป็นวันฉลองที่สำคัญที่สุดในรอบปีของพระศาสนจักร เพราะเป็นรูปแบบของการเปลี่ยนชีวิตเก่าเข้าสู่ชีวิตใหม่ตลอดนิรันดร นักบุญเปาโลเตือนคริสตชนให้ฉลองปัสกาด้วยเชื้อแป้งใหม่ “จงชำระเชื้อเก่าเสีย เพื่อท่านจะได้เป็นแป้งก้อนใหม่เหมือนขนมปังไม่ใส่เชื้อเพราะพระเยซูคริสต์ผู้ทรงเป็นองค์ปัสกาของเราได้ถูกฆ่าบูชาแล้ว เหตุฉะนั้นให้เราฉลองปัสกากันมิใช่ด้วยเชื้อเก่าซึ่งเป็นเชื้อแห่งความชั่วช้าเลวทราม แต่ด้วยขนมปังที่ไม่ใส่เชื้อ คือด้วยความจริงใจและความจริง” (1คร 5:7-8)เชื้อเก่าคือมนุษย์เก่าที่มีบาป (ความชั่วช้าเลวทราม) และความตาย เชื้อใหม่คือมนุษย์ใหม่ที่เปลี่ยนแปลงดีขึ้นจนกระทั่งถึงขั้นสมบูรณ์ในวันกลับเป็นขึ้นมา มีชีวิตใหม่ที่ไม่ตายอีกเลย

2. เมื่อเราเปลี่ยนแปลงตัวเราเองให้ดีขึ้นแล้ว เราจึงจะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีขึ้นได้ด้วย เหมือนเรื่อง “จากใจแม่คนหนึ่ง” จงดูตัวอย่างของพระสันตะปาปา ยอห์น ปอลที่ 2 ซึ่งได้รับการยกย่องจากนานาชาติให้เป็น “บุราแห่งปี 1995” เพราะพระองค์ทรงพยายามสร้างโลกที่มีสันติภาพโดยไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อยพระวรกาย และโดยไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น พระองค์เสด็จนำสันติภาพไปสู่ประเทศต่างๆ 63 ครั้งแล้ว รวมระยะทางถึง 900,000 กม. (มากกว่าสองเท่าของระยะทางจากโลกถึงดวงจันทร์) ครั้งล่าสุดพระองค์ทรงเดินทางมาเยือนประเทศฟิลิปปินส์ ปาปัวนิวกินี ออสเตรเลีย และศรีลังกา ทั้งๆ ที่พระวรกายไม่สู้จะสมบูรณ์นัก ต้องใช้ไม้เท้าพยุงพระวรกายอยู่ตลอดเวลา มีคนทัดทานมิให้พระองค์เสด็จ แต่พระองค์ก็ไม่ทรงยินยอม ที่ประเทศฟิลิปปินส์มีประชาชนไปต้อนรับเสด็จพระองค์ที่สวนสาธารณะถึงกว่าล้านคน ตัวอย่างอันเด็ดเดี่ยวของพระองค์นี้ประทับใจชาวโลก มีผลทำให้ทุกฝ่ายหันมาแสวงหาสันติภาพกันมากขึ้น

3. เราจะเปลี่ยนโลกได้ก็โดยอาศัยเปลี่ยนตัวเราให้เป็นเกลือ เชื้อแป้งแสงสว่าง เป็นเกลือดองคุณธรรมความดีในโลกให้คงอยู่ถาวร เป็นเชื้อแป้งทำให้คุณธรรมความดีนั้นเฟื้องฟูและแผ่ขยายไปทั่ว เป็นแสงสว่างให้โลกเห็นผิดเห็นชอบ เห็นคุณค่าของวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ เหมือนขุมทรัพย์ที่ซ่อนอยู่ในนา ต้องช่วยกันขุดมันขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เราต้องอยู่ในโลก แต่ไม่เป็นของโลก

ทั้งหมดนี้คือปัสกา คือการเปลี่ยนชีวิต หรือที่เรียกว่า “กลับใจ” ถ้าไม่มีการกลับใจก็ไม่มีปัสกา

ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ

ก. ข้อควรจำ

1. การเปลี่ยนชีวิตอย่างถึงรากถึงโคนคือ จากความตายที่แสนจะทรมาน ไปสู่ความสุขในชีวิตใหม่ที่สุกใสถาวรไม่รู้จักตายอีกเลย

2. เราจะเปลี่ยนโลกได้ก็โดยอาศัยเปลี่ยนตัวเราให้เป็น เกลือ เชื้อแป้ง แสงสว่าง เป็นเกลือดองคุณธรรมความดีในโลกให้คงอยู่ถาวร

3. ปัสกาคือ การเปลี่ยนชีวิต หรือที่เรียกว่า “กลับใจ” ถ้าไม่มีการกลับใจก็ไม่มีปัสกา

ข. กิจกรรม
จัดให้มีการเลี้ยงฉลองปัสกา สังสรรค์เล็กน้อยในชั้นเรียน มีเครื่องดื่ม ขนม ไอครีม ฯลฯ
(ครูอาจจะเตรียมไข่ปัสกามาด้วยก็ได้ เพื่อให้กับเด็กนักเรียนของเราเป็นการระลึกถึงการมีชีวิตใหม่)
ปิดงานเลี้ยงด้วยเพลง “ชีวิตใหม่” หรือเพลงอะไรก็ได้ที่เกี่ยวกับชีวิตใหม่