ศูนย์คริสตศาสนธรรมสังฆมณฑลราชบุรี
CATECHETICAL CENTER OF RATCHABURI DIOCCESE

 บทเรียนที่ 2         เดือนสิงหาคม 1997

หัวข้อเรื่อง           พระเยซูคริสต์ทรงเป็นบุตรของพระเจ้า

จุดมุ่งหมาย         เพื่อปลุกความเชื่อของนักเรียนในองค์พระเยซูคริสต์ซึ่งเป็นพระเจ้าแท้และปลุกความศรัทธาเลื่อมใสต่อพระองค์ ยึดพระองค์เป็นที่พักพิงตลอดไป

ขั้นที่ 1 กิจกรรม
 แสดง-ทายใบ้
 แบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ กลุ่มละประมาณ 4-5 คน
 แจกพระวรสารให้กลุ่มละ 2-3 เล่ม (หรือมากกว่านั้นถ้ามี)
 ให้แต่ละกลุ่มเลือกหาอัศจรรย์ในพระวรสารฉบับใดก็ได้ นำมาแสดงเป็นละครใบ้ให้กลุ่มอื่นๆ ทาย
              ว่าเป็นอัศจรรย์เรื่องอะไร

ตัวอย่างอัศจรรย์
 ขับไล่ผีสิงคนสองคน ณ แดนกาดารา  (มธ 8:28-34)
 ปลุกบุตรสาวของไยรัสให้ฟื้นคืนชีพ  (มก 5:21-43)
 รักษาคนง่อย    (ลก 5:17-25)
 รักษาคนโรคเรื้อน 10 คน   (ลก 17:11-19)
 งานมงคลสมรสที่เมืองคานา   (ยน 2:1-10)

     ฯลฯ
 ถ้าไม่มีพระวรสาร ก็ให้คุรครูเขียนอัศจรรย์ลงในกระดาเท่าจำนวนกลุ่ม แล้วแจกให้แต่ละกลุ่ม
ไปจัดแสดงตามนั้น

ขั้นที่ 2 วิเคราะห์
ครูตั้งข้อสังเกต
1. อัศจรรย์คืออะไร? คือสิ่งเหนือธรรมชาติที่มนุษย์ธรรมดาๆ อย่างเราไม่สามารถบันดาลให้เกิดขึ้น
    ผู้ที่ทำอัศจรรย์ได้ก็ต้องเป็นผู้ที่อยู่เหนือธรรมชาติ คือ พระเป็นเจ้าเท่านั้น
2. อัศจรรย์มีจริงหรือไม่? จากสักขีพยานในพระวรสารก็ดี ในชีวิตขชองพระศาสนจักรก็ดี
    และในชีวิตส่วนตัวของมนุษย์เองก็ดี ยืนยันว่าอัศจรรย์มีจริง แม้ในยุคปัจจุบันนี้ก็ยังมีอัศจรรย์อยู่
    จากสักขีพยานที่เชื่อถือได้ และจากการพิสูจน์ตรวจสอบแล้วเห็นว่าเป็นสิ่งที่เกินกำลังของมนุษย์
    จะบันดาลให้เกิดขึ้นได้
3. อัศจรรย์มีเพื่ออะไร? พระเป็นเจ้าไม่ทรงกระทำการใดๆ โดยปราศจากจุดหมายและจุดหมายของพระองค์
    นั้นก็หนักแน่น มั่นคง จริงจัง แตกต่างจากจุดหมายของมนุษยือะไรคือจุดหมายของพระองค์?
    ความรอดของมนุษย์เป็นจุดหมายแรกและจุดหมายเอกของอัศจรรย์ นอกจากนั้นอาจมีจุดหมายอื่นๆ
    ซึ่งเป็นจุดหมายรองแฝงอยู่ด้วย เช่น เพื่อแสดงพระเมตตาต่อมนุษย์ เพื่อผลดีทางกายอันจะส่งผลดี
    ทางวิญญาณต่อไปด้วย

สรุป พระเป็นเจ้าเท่านั้น ทรงทำอัศจรรย์ได้ แม่พระ เทวดา นักบุญ และแม้กระทั่งผู้ศักดิ์สิทธิ์บางคน
              ทำอัศจรรย์ได้ก็โดยอาศัยพระเป็นเจ้า มิใช่ทำด้วยตนเอง

ขั้นที่ 3 คำสอน
 1.พระเยซูคริสต์ทรงสำแดงพระองค์เป็นบุตรพระเจ้า หรือเป็นพระเป็นเจ้าอย่างค่อยทีค่อยไป ทั้งนี้ก็เพราะว่าชาวยิวนั้นเคร่งครัดในเรื่องนมัสการพระเป็นเจ้าแต่องค์เดียวชนิดฝังหัว จะเห็นได้ว่าทุกครั้งที่พระเยซูคริสต์ทรงแย้มว่าพระองค์เองก็เป็นพระเป็นเจ้า จะได้รับการต่อต้านจากชาวยิวอย่างเผ็ดร้อน ถึงกับจะสำเร็จโทษพระองค์เสียด้วยก้อนหินทีเดียว โทษฐานหมิ่นประมาทพระเป็นเจ้า โดยยกตนขึ้นเท่าเสมอพระองค์ดังเช่น เมื่อครั้งพระองค์ทรงทำอัศจรรย์รักษาคนง่อยให้หาย พระองค์ตรัสกับคนง่อยว่า“บาปของเจ้าได้รับการอภัยแล้ว” เท่านั้นแหละ ชาวยิวต่างขบกรามแน่น ซุบซิบกันว่า “เจ้าคนนี้มันเป็นใคร บังอาจหมิ่นพระเป็นเจ้าด้วยการอภัยบาป ใครจะอภัยบาปได้นอกจากพระเป็นเจ้าเท่านั้น” และพระองค์ก็ได้สำแดงให้พวกเขาเห็นทั้งด้วยการอภัยบาป ซึ่งเป็นโรคฝ่ายวิญญาณ ทั้งด้วยการรักษาอาการง่อย ซึ่งเป็นโรคฝ่ายกายให้หาย (เทียบ ลก 5:17-25)และอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระเยซูคริสต์ตรัสว่า “เรากับพระบิดาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” พวกยิวก็คว้าก้อนหินขึ้นมาขว้างพระองค์ให้ตาย พระองค์ตรัสถามว่า “พวกท่านจะขว้างเราด้วยเรื่องอะไร?” พวกเขาก็ตอบว่า“เราจะขว้างท่านมิใช่เพราะอิจฉาว่าท่านทำดี แต่เพราะการพูดหมิ่นพระเป็นเจ้า เพราะท่านเป็นเพียงมนุษย์มาตั้งตัวเป็นพระเจ้า” (เทียบ ยน 10:10-33)

 2.พระเยซูคริสต์จึงทรงใช้อัศจรรย์ที่พระองค์ทรงกระทำเป็นเครื่องหมายประกาศทางอ้อมว่า พระองคืเป็นพระเป็นเจ้า เพราะทำอัศจรรย์ได้ และปรากฏว่าประชาชนทั่วไป รวมทั้งพวกสาวกด้วย เมื่อได้เห็นอัศจรรย์ที่พระองค์ทรงกระทำก็ค่อยๆ เชื่อว่าพระองค์เป็นพระเป็นเจ้า ดังเช่น หลังอัศจรรย์เปลี่ยนน้ำให้เป็นเหล้าองุ่นที่เมืองคานา “พวกสาวกของพระองค์ก็ได้เชื่อในพระองค์” (ยน 2:11) หรืออัศจรรย์ที่พระองค์ทรงปลุกลาซารัสที่ตายถึง 4 วันแล้วให้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมา “พวกยิวหลายคนที่มาหามารีและได้เห็นการกระทำของพระองค์ก็เชื่อในพระองค์” (ยน 11:45)

 3.คำพยานที่สำคัญจากปากของเปโตร ซึ่งเป็นหัวหน้าของอัครสาวก เมื่อพระเยซูคริสต์ถามว่า “พวกท่านว่าเราเป็นใคร?” เปโตรตอบว่า “พระองค์เป็นพระคริสต์บุตรพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” เป็นคำตอบที่ชัดแจ้งถูกต้องตามความเป็นจริงอย่างยิ่ง จนพระเยซูคริสต์ต้องเสริมว่า “ซีโมนบุตรของยอห์นเอ๋ย ท่านมีบุญ เพราะมิใช่มนุษย์ที่แจ้งเรื่องนี้ให้ท่านทราบ แต่เป็นพระบิดาของเราในสวรรค์ที่ทรงแจ้งให้ท่านทราบ” (มธ 16:15-17)แต่อัศจรรย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เป็นสักขีพยานที่เด่นชัดที่สุดว่าพระเยซูคริสต์เป็นบุตรพระเจ้าก็คือการกลับคืนพระชนม์ของพระองค์ ตามที่มีบันทึกอยู่ในพระวรสารทั้งสี่ซึ่งให้รายละเอียดทั้งตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเวลาสถานที่ที่สอดคล้องต้องกันที่เพิ่มน้ำหนักให้แก่ความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นก็คือ พวกอัครสาวกเองไม่เชื่อง่ายๆ ว่าพระเยซูคริสต์กลับคืนพระชนม์จริง พระวรสารโดยนักบุญลูกากล่าวว่า “ผู้ที่ไปเล่าเหตุการณ์ (การกลับคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์) ให้แก่อัครสาวกคือ มารีชาวมักดาลา โยอันนา มารี มารดาของยากอบ และหญิงอื่นๆ ที่อยู่กับเขา แต่พวกอัครสาวกไม่เชื่อถือว่าเป็นคำพูดเหลวไหล” (ลก 24:9-11) โธมัส ซึ่งเป็นอัครสาวกที่หัวดื้อที่สุด ถึงกับกล่าวว่า “ถ้าข้าไม่เห็นรอยตะปูที่พระหัตถ์ของพระองค์ ไม่ได้เอานิ้วแยงที่รอยตะปูนั้น และไม่ได้เอานิ้วมือแยงสีข้างของพระองค์แล้ว ข้าจะไม่เชื่อเลย” (ยน 20:25)
พระเยซูคริสต์เองเมื่อปรากฏมาให้พวกอัครสาวกเห็นหลังจากกลับคืนพระชนม์ “ก็ทรงติเตียนพวกเขาเพราะสงสัยและใจดื้อดึง ไม่ยอมเชื่อคนที่ได้เห็นพระองค์หลังจากที่พระองค์เสด็จกลับคืนพระชนม์แล้ว” (มก 16:14) เมื่ออัครสาวกเหล่านี้ซึ่งเป็นคนหัวแข็ง ดื้อรั้น ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ บัดนี้กลับมาประกาศว่าพระเยซูคริสต์กลับคืนพระชนม์จริง และยอมพลีชีวิตเพื่อยืนยันความจริงนี้ย่อมเป็นประจักษ์พยานที่ดีว่าพระเยซูคริสต์กลับคืนพระชนม์จริง พระองค์กลับคืนพระชนม์ด้วยฤทธิ์อำนาจของพระองค์เอง พระองค์จึงเป็นบุตรพระเจ้า หรือเป็นพระเป็นเจ้าแท้

 4.นักบุญเปาโลสอนว่า การกลับคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์เป็นหลักของความเชื่อคริสตชน“ถ้าพระเยซูคริสต์มิได้กลับคืนพระชนม์ การเทศนาของเราก็ไม่มีหลังทั้งความเชื่อของท่านทั้งหลายก็ไม่มีหลักด้วย และจะกลายเป็นว่าเราเป็นพยานเท็จเพราะไปเทศนาว่าพระเยซูคริสต์กลับคืนพระชนม์ แต่ที่จริงไม่เป็นเช่นนั้น.....ถ้าพระเยซูคริสต์มิได้กลับคืนพระชนม์ ความเชื่อของท่านก็ไร้ประโยชน์ และคนทั้งหลายที่ล่วงลับไปแล้วในพระเยซูคริสต์ก็พินาศไปสิ้น ถ้าในชีวิตนี้พวกเราอยู่ในพระคริสต์กันแบบหวังๆ กันไปเท่านั้น เราก็เป็นคนที่น่าสังเวชที่สุดในบรรดาคนทั้งหลาย” (1คร 15:14-19)ถ้าพระเยซูคริสต์กลับคืนพระชนม์จริง พระองค์ก็เป็นพระเป็นเจ้าจริงเที่ยงแท้

ขั้นที่ 4 ปฏิบัติ
ก. ข้อควรจำ
1. มีแต่พระเป็นเจ้าเท่านั้นที่อภัยบาปได้ มีแต่พระเป็นเจ้าเท่านั้นที่ทำอัศจรรย์ได้
2. “เรากับพระบิดาเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน” (ยน 10:30)
3. “พระองค์เป็นพระคริสต์ บุตรพระเจ้าผู้ทรงชีวิต” (มธ 16:16)
4. “ข้าแต่พระเป็นเจ้าของข้าพเจ้า ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า” (ยน 20:28)
5. ข้าพเจ้าเชื่อถึงพระเอกบุตรเยซูคริสต์ พระเจ้าของเรา
ข. กิจกรรม
จัดวจนพิธีกรรมนมัสการและสรรเสริญพระเยซูคริสต์บุตรพระเจ้าดังนี้
 ตั้งรูปพระเยซูคริสต์
 เพลงเริ่มพิธี “ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงพระกรุณาเทอญ” (หนังสือปรารถนา หน้า 45 บี)
 บทอ่าน (มธ 16:13-20)
 ครูอธิบายความหมายสั้นๆ (หรือจะให้นักเรียนแบ่งปันด้วยก็ได้)
 ภาวนาอิสระ (นักเรียนต่างคนต่างอธิษฐานตามความต้องการ)
 สวดบท “ข้าพเจ้าเชื่อถึงพระเป็นเจ้า” พร้อมกัน
 เพลงปิดพิธี “พักพิงในพระเจ้า” (หนังสือปรารถนา หน้า 412 บี)
ค. การบ้าน
ฝึกสวดภาวนาสั้นๆ ว่า “ข้าแต่พระเป็นเจ้าของข้าพเจ้า ข้าแต่พระเจ้าของข้าพเจ้า” เมื่อผ่านหน้ารูปพระเยซูคริสต์

   เพลงข้าแต่พระเจ้า
 ข้าแต่พระเจ้า  ขอทรงพระกรุณาเทอญ
 ข้าแต่พระเจ้า  ขอทรงพระกรุณาเทอญ
 ข้าแต่พระคริสตเจ้า  ขอทรงพระกรุณาเทอญ
 ข้าแต่พระคริสตเจ้า  ขอทรงพระกรุณาเทอญ
 ข้าแต่พระเจ้า  ขอทรงพระกรุณาเทอญ
 ข้าแต่พระเจ้า  ขอทรงพระกรุณาเทอญ

    เพลงพักพิงในพระเจ้า
 ดังทะเลเจอมรสุมแปรปรวน   ทุกคนมีชีวิตเป็นเช่นนั้น
 ยามทุกข์เจียนตายดั่งคลื่นและลมซัดพา  ขาดคนคุ้มครองป้องกันพักพิง
 แต่อย่าลืมพระองค์เฝ้ามองเราอยู่  พร้อมจะเชิดชูใจที่อ่อนแรงระอา
 จงหันคืนสู่พระพักตร์ที่แสนเมตตา  มอบชีวาให้พระองค์นำพา
  พักพิงในพระเจ้า  พักพิงในพระองค์ พระทรงเป็นศิลามั่นคง
  พระองค์เป็นพระเจ้า  พระองค์เป็นพลัง
  โปรดเป็นโล่ เป็นกำลังที่เข้มแข็ง
   ต่อไปนี้ฉันจะไม่ต่อสู้เพียงลำพัง
   เหตุเพราะอง์คืผู้ทรงมีชัยในความตายความบาป
   โปรดเดินเคียงข้างฉัน

เนื้อหาและบทเรียน

Download พิธีศีลศักดิ์สิทธิ์สำหรับเด็กและเยาวชน

Download พิธีโปรดศีลศักดิ์สิทธิ์