ไปวัดทำไม? ตอน คำทักทายของพระสงฆ์ไปวัดทำไม? ตอน คำทักทายของพระสงฆ์
         
หลังจากพระสงฆ์ผู้ประกอบพิธีได้แสดงความเคารพต่อพระแท่นบูชาด้วยการกราบหรือย่อเข่าแล้ว พระสงฆ์จะนำสัตบุรุษทำเครื่องหมายกางเขน “เดชะพระนาม.....” ซึ่งเป็นเครื่องหมายแห่งความรอดที่เราได้รับจากศีลล้างบาป การทำเครื่องหมายสำคัญมหากางเขนนี้เป็นการแสดงตนว่าเราเป็นคนหนึ่งที่ยอมรับความรอดที่พระเจ้าทรงมอบให้เรา และเราเป็นคนหนึ่งที่เป็นผลมาจากพระบัญชาของพระเยซูเจ้าที่ทรงมอบให้กับสานุศิษย์


           “ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขาเดชะพระนามพระบิดา พระบุตรและพระจิต จงสอนเขาให้ปฏิบัติตามคำสั่งทุกข้อที่เราให้แก่ท่าน แล้วจงรู้เถิดว่าเราอยู่กับท่านทุกวันตลอดไปตราบจนสิ้นพิภพ”(มธ 28:19-20)

           พระสงฆ์กล่าวคำทักทายสัตบุรุษด้วยถ้อยคำที่เป็นการให้พรแก่สัตบุรุษ ซึ่งอาจะเป็นสำนวนใดสำนวนหนึ่งในสามสำนวนนี้คือ แบบที่ 1 “ขอพระหรรษทานของพระเยซูคริสตเจ้า ความรักของพระบิดา และความสัมพันธ์ของพระจิตสถิตกับท่านทั้งหลาย” แบบที่ 2 “ขอพระหรรษทานและสันติสุขจากพระเจ้าพระบิดาของเราและจากพระเยซูคริสตเจ้าสถิตกับท่านทั้งหลาย” และแบบที่ 3 “พระเจ้าสถิตกับท่าน” คำทักทายของพระสงฆ์เป็นการนำพระพรของพระเจ้าที่ท่านได้รับจากพระแท่นศักดิ์สิทธิ์มามอบให้กับสัตบุรุษที่มาร่วมพิธีทุกคน คำทักทายนี้จึงเป็นพระพรที่องค์พระผู้เป็นเจ้าเองทรงมอบให้แก่เราทุกคนนั้นเอง เป็นคำทักทายที่มีความหมายมากกว่าคำว่า “สวัสดี” ที่เราใช้ทักทายกัน เพราะนี้เป็นการทักทายที่เป็นคำภาวนาเพื่อความรอดพ้นจากบาปของทุกคนที่เข้ามาร่วมพิธีมิสซาบูชาขอบพระคุณนี้ และแน่นอนเราทุกคนต่างร้องตอบรับคำทักทายของพระสงฆ์ว่า “อาแมน” ซึ่งหมายถึงการยอมรับคำอวยพรที่มอบให้นี้

           ในพิธีฉลองใหญ่ๆจะมีการถวายกำยานให้แด่พระแท่นบูชาด้วย การถวายกำยานซึ่งเป็นเครื่องหอมนี้เป็น “การแสดงความเคารพ” และ “การชำระให้บริสุทธิ์” ควันของกำยานจะลอยขึ้นไปสู่เบื้องบนซึ่งหมายถึงสวรรค์ เป็นเครื่องหมายแสดงว่าคำภาวนาหรือความปรารถนาของเรากำลังลอยขึ้นไปหาพระเจ้า
“ข้าแต่พระเจ้า ข้าพเจ้าเรียกหาพระองค์ โปรดเสด็จมาเถิด โปรดทรงฟังเสียงข้าพเจ้า เมื่อข้าพเจ้าเรียกหาพระองค์ ขอให้คำภาวนาของข้าพเจ้าเป็นดั่งกำยานเฉพาะพระพักตร์พระองค์ ขอให้มือของข้าพเจ้าที่ชูขึ้นหาพระองค์เป็นดั่งเครื่องบูชาในยามเย็น”(สดด 141:1-2)

            ในพิธีมิสซาฯสำหรับวันฉลองใหญ่จะมีการถวายกำยานดังต่อไปนี้ ครั้งที่หนึ่งพระสงฆ์ผู้เป็นประธานในพิธีถวายให้กับพระแท่นในตอนเริ่มพิธี ครั้งที่สองให้กับพระคัมภีร์ก่อนที่พระสงฆ์หรือสังฆานุกรจะอ่านบทพระวรสาร ครั้งที่สามถวายให้กับเครื่องบูชาซึ่งมีปังและน้ำองุ่นในภาคถวาย ครั้งที่สี่สังฆานุกรหรือผู้ช่วยพิธีกรรมถวายกำยานให้กับพระสงฆ์และสัตบุรุษ ครั้งที่ห้าสังฆานุกรหรือผู้ช่วยพิธีกรรมถวายกำยานให้ศีลมหาสนิทและพระโลหิตหลังจากที่พระสงฆ์ได้ทำพิธีเสกปังและน้ำองุ่นแล้ว   การถวายกำยานนี้เราสามารถถวายให้แก่บุคคลและสิ่งของศักดิ์สิทธิ์ได้

ข้อไตร่ตรองและการปฏิบัติ
    1.การทำเครื่องหมายกางเขนเป็นการแสดงความเคารพและการยืนยันถึงการเป็นบุตรของพระเจ้า เราควรกระทำด้วยความเคารพ ช้าๆชัดเจน
    2.เครื่องหมายกางเขนเป็นยืนยันถึงความเชื่อในเรื่องพระตรีเอกภาพ พระบิดา พระบุตรและพระจิต
    3.ให้ตอบรับ “อาแมน” ด้วยความเคารพและชัดถ้อยชัดคำ
    4.ให้เราทักทายและให้พรกันและกันด้วยคำพูดที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น “ขอพระเจ้าอวยพร” “ขอพระเจ้าคุ้มครอง” พูดให้ติดปากเลยยิ่งดี